เคยไหม จู่ ๆ ก็รู้สึกเศร้าทั้งที่ไม่มีเรื่องอะไรให้เศร้าเลย ไม่อยากทำอะไร ต้องการอยู่คนเดียว หรือรู้สึกโลกนี้ไม่น่าอยู่ ไม่อยากอยู่ในโลกนี้อีกแล้ว หากคุณกำลังรู้สึกแบบนี้อยู่ อย่าปล่อยเฉย เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเข้าข่ายของ โรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าไม่ได้มีอาการรุนแรงทางร่างกาย แต่มีผลกระทบด้านจิตใจโดยตรง และมีอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งโรคซึมเศร้าสามารถเป็นกันได้ทุกคน ทุกเพศ และ ทุกวัย มีทั้งที่แสดงอาการ แต่มีคนจำนวนมากเลยทีเดียว ที่เป็นซึมเศร้าไม่แสดงอาการ โดยที่เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า คนรอบตัวเรานั้นเป็นโรคซึมเศร้าอยู่หรือไม่ หรือแม้แต่ตัวเราเองเป็นโรคนี้อยู่หรือเปล่า วันนี้เราลองมาเช็กตัวเองดูกันสักหน่อยดีกว่าค่ะ ว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ จะได้รู้ทันและรักษาอาการให้หายได้ก่อนที่จะสายเกินแก้

อาการโรคซึมเศร้า
หากรู้สึกว่าอารมณ์ของตนเองหรือคนรอบข้างเปลี่ยนไปอย่างผิดปกติ โดยไม่สามารถหาสาเหตุได้ เช่น หงุดหงิดง่ายขึ้น หรือเก็บตัว ไม่อยากพูดคุยกับใครเหมือนเคย เพื่อความแน่ใจว่าจะใช่ภาวะซึมเศร้าหรือไม่ ลองสังเกตว่ามีอาการเหล่านี้ด้วยหรือไม่
- เบื่อหน่ายสิ่งรอบตัว ไม่อยากเข้าสังคม ไม่อยากติดต่อหรือพูดคุยกับใคร
- มองโลกในแง่ลบ มักมีอารมณ์เชิงลบ ท้อแท้ หดหู่ ร้องไห้หรือเสียใจโดยไม่มีสาเหตุ วิตกกังวลมากในทุกเรื่อง ๆ เครียดง่าย
- มีปัญหาด้านประสิทธิภาพการนอน นอนไม่หลับ นอนหลับยาก หลับไม่สนิท หรือนอนมากเกินไป
- มีพฤติกรรมผิดปกติไปจากเดิม กินน้อยลงหรือกินมากขึ้น จนทำให้น้ำหนักตัวลดหรือเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
- เฉื่อยชา กระวนกระวาย ลนลาน มีอาการแพนิค กระสับกระส่าย เคลื่อนไหวช้าลง
- อ่อนเพลียง่าย รู้สึกไม่มีเรี่ยวแรง ไม่ต้องการจะทำอะไร อยากอยู่นิ่ง ๆ
- สมาธิสั้น ความจำแย่ลง ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ
- รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ไม่มีความมั่นใจ ขาดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต อยากตาย หรือ พยายามฆ่าตัวตาย

หากใครที่มีลักษณะอาการเหล่านี้อย่างน้อย 4 อาการขึ้นไป , มีอาการใน ข้อ 1 หรือ ข้อ 2 ร่วมด้วย , มีอาการบ่อยแทบทุกวัน หรือมีอาการตลอดทั้งวัน โดยมีอาการต่อเนื่องกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ควรเข้าพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อขอคำปรึกษา และให้แพทย์ได้ทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อจะได้หาแนวทางแก้ไข และทำการรักษาได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว เพื่อป้องกันความรุนแรงของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
โรคซึมเศร้ามีโอกาสรักษาให้หายได้ หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และมีวิธีการดูแลอย่างถูกต้อง เหมาะสมกับลักษณะอาการของรายบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการรักษาแบบพูดคุย สอบถามอาการ ให้คำปรึกษา พฤติกรรม โรคประจำตัว ผลข้างเคียงจากยารักษาโรคประจำตัว ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ทางแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้ทำการวิเคราะห์และวินิจฉัย จากนั้นจะประเมินว่าผู้ป่วยควรรักษาในแนวทางใด เพื่อให้เกิดผลดีและสามารถรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหายได้ ช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได่ในอนาคต