ปัญหาใหญ่ทั่วโลกที่มีมานานหลายปีโดยเฉพาะเมืองใหญ่นั่นคือ “ปัญหาขยะล้นเมือง” ซึ่งเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของแต่ละประเทศที่จะมองข้ามไม่ได้ เพราะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมมาเนิ่นนาน โดยรัฐบาลในหลายๆ ประเทศเล็งเห็นและพยายามเร่งแก้ไขโดยขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย รวมถึงประเทศไทยเราเองก็ได้มีการรณรงค์และเริ่มมีคนหันมาให้ความสนใจกันมากขึ้น แม้จะเป็นเพียงแค่คนบางกลุ่มก็ตาม

แต่เมื่อสถานการณ์โควิดกลับมาระบาดรอบใหม่ ก็ทำให้ขยะพลาสติกโดยเฉพาะในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นถึง 7.61% จากที่เคยลดลงหลังจากมีการรณรงค์และมีประชาชนหลายส่วนให้ความร่วมมือด้วยการลดใช้พลาสติก โดยการใช้ถุงผ้า แก้วน้ำส่วนตัว กล่องอาหาร และวัสดุอื่นทดแทน แต่เมื่อต้องเกิดการระบาดของโควิด-19 อีกรอบ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องใช้มากขึ้น อย่าง หน้ากากอนามัย ถุงมือแพทย์ ชุด PPE บรรจุภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ หลอดฉีดวัคซีน หรือการที่ต้องกักตัวอยู่บ้านกันมากขึ้น มีการใช้บริการจัดส่งอาหาร และการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ ซึ่งก็ล้วนแต่มีพลาสติกเข้ามามีบทบาททั้งสิ้น จึงทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นสูงกว่า 25% ของปริมาณขยะทั่วไป นับว่าสูงจนน่าหวั่นวิตกเลยทีเดียว
ขยะมีหลายประเภทด้วยกัน ทั้งขยะเปียกที่เป็นจำพวกเศษอาหารต่างๆ จากครัวเรือนที่มีเหลือทิ้งกันแทบทุกบ้านและแม้แต่สถานที่ให้บริการด้านอาหาร แต่สามารถย่อยสลายได้ภายใน 6เดือน หรือภายในไม่กี่ชั่วโมงด้วยเครื่องหมักปุ๋ยไฟฟ้า ขยะจำพวกกระดาษสามารถย่อยสลายได้ในระยะเวลา 5 เดือน – 5 ปี ส่วนโลหะ – อลูมิเนียมใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 200 ปี และ “พลาสติก” เป็นขยะที่ย่อยสลายนานที่สุด โดยขวดและถุงพลาสติกใช้เวลาในการย่อยสลายประมาณ 400 – 500 ปี ในขณะที่โฟมแทบจะไม่ย่อยสลายเลยจึงเป็นวัสดุที่ควรหลีกเลี่ยงในการใช้ให้มากที่สุด ส่วนขวดแก้วต่างๆ กลับไม่สามารถย่อยสลายได้ จึงเป็นเหตุผลที่ต้องนำกลับมารีไซเคิลใช้ใหม่

แต่บทความนี้เราจะกล่าวถึงขยะพลาสติกที่นำกลับมารีไซเคิลได้มีอะไรบ้าง เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะและปัญหาโลกร้อนที่ส่งผลให้เกิดเภทภัยธรรมชาติทั่วโลก ณ ตอนนี้ … วิธีจัดการขยะพลาสติกมีหลายวิธี โดยมีการกลบให้มันย่อยสลายไปเองแต่ต้องใช้เวลาเป็นร้อยๆ ปี แต่จะดีกว่าหากเรานำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด จนกว่าตัวมันเองจะไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไปหรือถึงเวลาสลายในที่สุด
ลด ละ เลิก พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastic) แต่พยายามเลือกใช้พลาสติกที่สามารถนำกลับมา Reuse เช่น การนำขวดพลาสติกปลูกผักแทนกระถาง หรือ Recycle ไพโรไลซิสพลาสติก คือการนำขวดพลาสติกไปผ่านกระบวนการจนได้เป็นน้ำมันใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ แน่นอนว่าคำว่ารียูสและรีไซเคิล เรามีบัญญัติสองคำนี้มานานหลายสีบปี แต่ระบบการจัดการก็ยังไปไม่ถึงจุดที่น่าพอใจได้สักที เนื่องจากคนส่วนใหญ่ที่ยังไม่นำมาปรับใช้ให้เป็นปกติในการดำรงชีวิตในแต่ละวัน รวมไปถึงความเข้าใจในสองคำนี้ที่คลาดเคลื่อน

“หากคุณไม่มั่นใจอย่าทิ้งลงถังรีไซเคิล” เป็นคำแนะนำในการทิ้งขยะรีไซเคิลของกลุ่มเพื่อสิ่งแวดล้อม Planet Ark เนื่องจากพวกเขาพบว่าที่ผ่านมา ร้อยละ 90 ของชาวออสเตรเลียเชื่อว่าการรีไซเคิลเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ก็ยังมีการเข้าใจผิดในสิ่งที่รีไซเคิลได้และไม่ได้ โดย แคลร์ เบล ผู้ประสานงานอาวุโส ของ Planet Ark ได้กล่าวถึงการรีไซเคิลของชาวออสเตรเลียที่บางครั้งก็ไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดปัญหาขยะมีการปะปนกันระหว่างขยะที่สามารถและไม่สามารถรีไซเคิลได้ ซึ่งมันกำลังเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากขยะบางชนิดอาจมีผลเสียต่อกระบวนการรีไซเคิลและสิ่งแวดล้อมมากกว่าผลดี
ด้วยโรงงานคัดแยกขยะส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อคัดแยกและแปรรูปโดยเจาะจงประเภทของวัสดุอย่าง พลาสติก แก้ว โลหะ และจำพวกกระดาษ หากมีวัสดุอื่นปะปนไปในระหว่างกระบวนการรีไซเคิลและการทำงานของอุปกรณ์ อาจสร้างความเสียหายและอันตรายกับอุปกรณ์เหล่านั้น และยังทำให้วัสดุที่ถูกคัดแยกแล้วต้องปะปนกับวัสดุอื่นๆ อย่างที่ไม่ควรจะเป็น ดังนั้นควรมีการแยกประเภทขยะพลาสติกให้ถูกต้อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างสูงสุดและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับระบบสิ่งแวดล้อม

ประเภทของขยะรีไซเคิลรีไซเคิลได้ที่ควรแยกก่อนทิ้ง
1.โพลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต / PETE (Polyethylene Terephthalate)
พลาสติกโพลีเมอร์ใสที่มีความเหนียว ทนทานต่อแรงกระแทก และป้องกันการแพร่ผ่านของก๊าซ นำมาผลิตเป็นขวดบรรจุเครื่องดื่มหรือของเหลวที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เช่น ขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำมันพืช โดยมีสัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 1
2.โพลิเอทิลีนที่มีความหนาแน่นสูง / HDPE (High-density Polyethylene)
พลาสติกชนิดนี้จะมีความหนาแน่นสูง จึงมีความแข็งแรงแต่มีความโปร่งแสงต่ำ ทนต่อกรดและด่าง ป้องกันการแพร่ผ่านความชื้นได้ดี นำมาผลิตเป็นขวดเครื่องสำอาง เวชภัณฑ์ เช่น ขวดแชมพู ขวดนม ถุงขยะ ถังพลาสติก ถังบรรจุสารเคมี โดยมีสัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 2
3.โพลีไวนิลคลอไรด์ / PVC (Polyvinyl Chloride)
พลาสติกใสที่มีความแข็งแรงมาก อากาศและไอน้ำซึมผ่านได้เล็กน้อย แต่สามารถป้องกันไขมันได้ดี นำมาผลิตเป็นท่อประปา ฉนวนสายไฟ เครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ ขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีสัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 3
4.โพลีเอทิโพลีนความหนาแน่นต่ำ / LDPE (Low-density Polyethylene)
พลาสติกโปร่งแสง มีความหนาแน่นต่ำ แต่มีปริมาตรสูง นำไปผลิตเป็นถุงใส่อาหารแช่แข็ง ถุงใส่ของ แผ่นฟิล์ม สายหุ้มทองแดง โดยมีสัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 4
5.โพลีโพรพิลีน / PP (Polypropylene)
เป็นพลาสติกที่มีความแข็งแรง ทนทานต่อแรงกระแทกและความร้อนสูง แต่มีน้ำหนักเบาที่สุด นำไปผลิตเป็นถุงร้อน ภาชนะบรรจุอาหาร บานพับ ขวดยา ฉนวนไฟฟ้า มีสัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 5
6.โพลีสไตรีน / PS (Polystyrene)
เป็นพลาสติกที่มีความเปราะบาง โปร่งใส แต่มีความทนต่อกรดและด่างได้ดี ไอน้ำและอากาศซึมผ่านได้พอสมควร ผลิตเป็นรูปต่างๆ ได้ง่าย จึงนำไปผลิตเป็นภาชนะ เช่น ถ้วย จาน กล่องใส่ซีดี และอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขยะพลาสติกประเภทนี้ไม่ควรทิ้งในถังยะรีไซเคิล เนื่องจากเม็ดโฟมพอลีสไตรีนมีขนาดเล็กเกินไปที่จะแปรรูป พลาสติกชนิดนี้จะมีสัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 6
7.พลาสติกอื่นๆ / Other
พลาสติกต่างๆ ที่ไม่เข้าพวกใน 6 ชนิดแรก เช่น โพลีคาร์บอเนต หรือ PC (Polycarbonate) ซึ่งเป็นพลาสติกโปร่งใส มีความแข็งแรง ทนต่อความร้อน และแรงกระแทกได้ดี นำไปผลิต หมวกนิรภัย ปากกา ขวดนมเด็ก ป้ายโฆษณา
โดยขยะประเภทพลาสติกทั้งหมดนี้สามารถนำมาเพื่อแยกขยะขายได้ จำพวกขวดน้ำดื่มพลาสติก บับเบิ้ลกันกระแทก ฟิล์มหด ถุงซิป ถุงพลาสติกหูหิ้วต่างๆ กล่องอาหาร หลอดพลาสติก ท่อพีวีซี ขวดยา ฯลฯ
แต่การคัดแยกขยะรีไซเคิลกับการแยกขวดพลาสติกขายจะต่างกัน เพราะขยะพลาสติกบางชนิดที่รีไซเคิลไม่ได้แต่ขายได้ ในขณะที่ขยะบางชนิดรีไซเคิลได้แต่ยังไม่มีตลาดรับซื้อ เช่น ถาด PET สามารถรีไซเคิลได้แต่ก็ขายไม่ได้

รีไซเคิลขยะแต่ละประเภท 1 กิโลกรัม ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่าไร?
- HDPE / PP ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 0.58 กิโลกรัม
- LDPE ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 0.72 กิโลกรัม
- PET ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 0.63 กิโลกรัม
- อลูมิเนียม ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 3.71 กิโลกรัม
- เหล็ก ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 0.87 กิโลกรัม
- กระดาษ ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 0.57 กิโลกรัม
- แก้ว ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 0.01 กิโลกรัม
การคัดแยกในโรงงานแยกขยะก็จะมีแต่ค่าใช้จ่าย ทำให้งบประมาณในการกำจัดขยะของประเทศไทยสูงทุกปี ด้วยส่วนใหญ่พนักงานหลายๆ คนเป็นลูกจ้างต่างด้าวบ้าง ชาวบ้านที่ไม่ได้มีความรู้ในการคัดแยกประเภทขยะบ้าง หากมีการแยกขยะจากครัวเรือนก่อน พนักงานก็จะได้ส่งไปฝ่ายรีไซเคิลได้เลย ทำให้ลดปริมาณขยะลงและเหลือเพียงขยะที่ต้องกำจัดทิ้งจริงๆ แถมยังลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ จะได้ปันงบประมาณไปพัฒนาด้านอื่นๆ แทน
ด้วยพลาสติกเป็นขยะ input ถ้าเรามีวิธีการคัดแยกพลาสติกเกรดดีๆ โดยเฉพาะพลาสติก food grade ซึ่งเราสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก ด้วยการใช้ระบบไพโรไลซิส แปรรูปขยะพลาสติกให้เป็นน้ำมันดิบคุณภาพสูง เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน เรียกได้ว่าเป็นวิธีกําจัดขยะรีไซเคิลที่เกิดประโยชน์สูงสุด แต่หากนำไปทิ้งปนกับเศษอาหาร มันก็จะเกิดการเน่าจนกำจัดยากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้การคัดแยกขยะก่อนทิ้งจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
ในขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมจะมีการแยกขยะในโรงงานก่อนกำจัดทิ้ง แต่กลับกลายเป็นว่าขยะจากครัวเรือนเป็นปัญหาที่มากสุด เนื่องจากไม่มีการแยกขยะในครัวเรือนก่อนที่จะนำมาทิ้งที่ถังขยะรวมหรือรถบริการเก็บขยะ แม้ว่าเราอาจจะเคยเห็นจนชินตาที่จะมีคนเก็บขวดขายมาคอยรื้อถังขยะเพื่อเก็บขวดไปขายก็ตาม คนกลุ่มนี้แม้ว่าพวกเขาจะทำเพื่อนำไปแลกกับเงินเพื่อใช้ประทังชีวิต ไม่ได้เกี่ยวกับการอนุรักษ์อะไรก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีส่วนช่วยในการแยกขยะ แม้ว่าจะเป็นกลุ่มเล็กมากถ้าเทียบกับปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมด

เราต่างก็เป็นผู้มีส่วนร่วมในการเพิ่มปริมาณขยะจนเป็นปัญหาระดับโลกอยู่ทุกวัน และถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถงดการทิ้งขยะได้ แต่ก็สามารถช่วยลดปริมาณลงได้ ด้วยการร่วมมือกันช่วยแยกขยะก่อนทิ้ง เมื่อมือของพวกเราเป็นผู้สร้างขยะ มือของพวกเราก็ช่วยลดขยะได้เช่นกัน คัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อชีวิตของเราที่ดีขึ้นและเพื่อโลกที่ดีกว่า!!