สำหรับใครที่มักจะไปบริจาคเลือด ย่อมคุ้นเคยกับยาเม็ดสีแดง ๆ ที่แจกฟรีจากสภากาชาดไทย หรือศูนย์รับบริจาคเลือด ให้นำกลับมารับประทาน ซึ่งเจ้าเม็ดยาสีแดง ๆ ที่ได้ฟรีมานี้คือยาอะไร จำเป็นต้องทานหรือไม่ วันนี้แอดมินจะมาไขข้อสงสัยให้กับผู้ที่เพิ่งเข้าวงการบริจาคเลือดมือใหม่ ถึงในเรื่องของยาแจกฟรีหลังบริจาคเลือด ว่าจำเป็นต้องกินหรือไม่ กินตอนไหน และกินอย่างไร
รู้ไหมว่าซองบรรจุยาเม็ดสีแดงที่ได้รับหลังการบริจาคเลือดกับสภากาชาดไทย คือ ยาเสริมธาตุเหล็ก แบบวิตามินรวม ซึ่งประกอบไปด้วย เฟอร์รัสฟิวมาเรต (Ferrous Fumarate) 200 มิลลิกรัม , วิตามิน B1 , วิตามิน B2 , วิตามิน C และ เกลือแร่ รวมอยู่ในเม็ดเดียวกัน เพื่อให้ช่วยเสริมประสิทธิภาพการดูดซึม และกระตุ้นในการสร้างเม็ดเลือดแดงขึ้นในร่างกาย เพื่อทดแทนที่สูญเสียไปจากการบริจาคเลือดนั่นเอง

ยาเสริมธาตุเหล็กช่วยเรื่องอะไร จำเป็นต้องกินไหม
การบริจาคเลือดในแต่ละครั้ง ผู้บริจาคจะเสียธาตุเหล็กไปประมาณ 350 – 500 มิลลิลิตร ซึ่งในปริมาณเท่านี้อาจไม่ถึงกับทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ แต่ร่างกายควรได้รับธาตุเหล็กชดเชยเพื่อไม่ให้ร่างกายตกอยู่ในภาวะอ่อนแอ หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจาง โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการโลหิตจาง หรือมีภาวะซีดได้ง่ายกว่าผู้ชาย เนื่องจากมีการสูญเสียเลือดในรูปแบบของประจำเดือนอีกด้วย ดังนั้น นอกจากจะควรกินยาบำรุงเลือดแล้ว ผู้บริจาคเลือดควรทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงด้วย เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องใน ไข่แดง อาหารทะเล ผักใบเขียว และ ธัญพืชต่าง ๆ เป็นต้น

ยาบำรุงเลือดเม็ดสีแดงกับยาบำรุงเลือดเม็ดสีเหลืองเหมือนหรือแตกต่างกัน
ยาบำรุงเลือดเม็ดสีแดง ประกอบไปด้วยเฟอร์รัสฟิวมาเรต วิตามิน B1 , วิตามิน B2 , วิตามิน C และ เกลือแร่ อยู่ในเม็ดเดียวกัน ในขณะที่ยาบำรุงเลือดเม็ดสีเหลือง คือ กรดโฟลิก หรือ โฟเลต (เม็ดสีเหลือง กลม ๆ ผิวด้าน) ซึ่งเป็นคนละตัวยากัน ส่วนยาเม็ดสีเหลืองที่ลักษณะมันวาวเคลือบน้ำตาล คือ วิตามินบีรวม ไม่ใช่ยาบำรุงเลือด โดยในวิตามินบีรวม 1 เม็ด จะประกอบไปด้วย วิตามินบี 1, วิตามินบี 2 , วิตามินบี 3 , วิตามินบี 5 , วิตามินบี 6 , วิตามินบี 7 , วิตามินบี 9 , และ วิตามินบี 12 ซึ่งไม่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็กตามที่ใครหลายคนเข้าใจ แต่อย่างไรก็ตาม นับว่าเป็นวิตามินรวมที่จำเป็นต่อร่างกาย เพราะมีส่วนสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง โดยการจ่ายยาจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ ซึ่งอาจจ่ายยาตัวใดตัวหนึ่ง หรือจ่ายให้ควบคู่กันเลย ตามอาการหรือโรคประจำตัวที่มี

ยาบำรุงเลือดกินตอนไหน
การกินยาบำรุงเลือดให้ได้ผลดี ควรกินเมื่อท้องว่าง เพื่อให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การกินยาบํารุงเลือดหลังบริจาคเลือด ผลข้างเคียงอาจมีบ้างในบางราย เช่น รู้สึกไม่สบายท้อง ท้องอืด รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หน้ามืด เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร สมองช้า หรือมีอาการหลงลืม เป็นต้น ดังนั้น เภสัชกรจึงมักจะแนะนำให้ทานยาบำรุงหลังมื้ออาหารทันที หรืออาจกินบำรุงเลือดก่อนนอน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังกล่าว โดยเฉพาะผู้บริจาคเลือดที่มีโรคประจำตัว ที่ต้องกินยาหลายชนิดร่วมกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการทานยาพร้อมกันมากเกินไป

ยาบำรุงเลือดกินวันละกี่เม็ด
ควรกินยาบำรุงเลือดเท่าไรจะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการกิน เช่น กินยาบำรุงเลือดเพื่อเสริมธาตุเหล็กหลังการบริจาคเลือด หรือกินยำรุงเลือดในผู้ป่วยโรคหิตจาง เป็นต้น โดยปริมาณยาบำรุงเลือดที่กิน มีตั้งแต่กินเพียงวันละ 1 เม็ด หรือ กิน 3 มื้อ ๆ ละ 1 เม็ด เป็นต้น โดยแพทย์ที่สั่งจ่ายยาจะระบุไว้ให้ และควรกินตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

ข้อควรระวังในการทานยาบำรุงเลือด
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาบำรุงเลือดในผู้ป่วยโรค Hemachromatosis หรือ ฮีมาโครมาโทซิส เพราะอาจได้รับธาตุเหล็กมากเกินไปจนทำให้เป็นพิษต่อร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาลีโวไทโรซีน (Levothyroxine) ภายใน 4 ชั่วโมง หลังจากกินยาบำรุงเลือด
- ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกร หากมียาอื่น ๆ ที่กำลังใช้อยู่ เพื่อไม่ให้ตัวยาตีกัน หรือเกิดปฏิกิริยาต้านกัน จนอาจไปทำให้ลดระดับธาตุเหล็กในร่างกายได้
- ไม่ควรซื้อยาบำรุงเลือดกินเอง แต่ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนซื้อและใช้ยาทุกครั้ง
- ยาบำรุงเลือดมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ก็อาจเกิดโทษได้ หากไม่ศึกษาข้อมูลให้ดี เพราะมีข้อจำกัดคนที่ไม่ควรกิน หรือจะต้องใช้ความระมัดระวังในการกินยาบำรุงเลือด เช่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร หรือผู้ป่วยโรคบางชนิด ซึ่งจะต้องปรึกษาและสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาก่อนเสมอ