เคยสงสัยกันไหมคะว่าน้ำกินเหลือในขวดน้ำพลาสติกตากแดดได้ไหม แล้วถ้านำมากินต่อในวันถัดไป จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหรือไม่ วันนี้เราจะมาหาคำตอบเพื่อไขข้อสงสัยให้กระจ่างกันในบทความนี้ค่ะ
เชื่อว่าหลายคนเคยลืมขวดน้ำที่ดื่มไม่หมดไว้ในรถ หรือไม่ก็เก็บไว้ดื่มในวันต่อไปในขณะที่อยู่บนรถ และเมื่อนำมาจะดื่มใหม่ พบว่ากลิ่นและรสเปลี่ยนไป ทำให้ไม่แน่ใจว่ายังสามารถดื่มน้ำในขวดได้อีกไหม บางคนก็ว่าห้ามดื่มเพราะมีสารก่อมะเร็งจากขวดพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในน้ำเนื่องจากขวดน้ำตากแดด ล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ทดลองนำขวดน้ำดื่มที่เป็นพลาสติกทิ้งไว้ในรถที่จอดตากแดด เพื่อหาข้อสรุปว่าสามารถดื่มน้ำจากขวดที่ไว้ในรถได้หรือไม่ และจริงไหมว่าดื่มน้ำในขวดที่ตากแดดในรถเสี่ยงเป็นมะเร็ง

หลังจากทิ้งขวดน้ำดื่มตากแดดไว้ในรถเป็นเวลา 1 วัน ทางกรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้นำน้ำในขวดดังกล่าวมาตรวจสอบ โดยใช้เทคนิคและวัดปริมาณด้วยเครื่องมือวิเคราะห์ชั้นสูง ผลปรากฏว่าไม่พบสารก่อมะเร็ง หรือสารเคมีอันตรายอย่าง Dioxin (ไดออกซิน) แต่อย่างใด แต่มีความเป็นไปได้ว่ามีเชื้อแบคทีเรียปะปนในน้ำที่ถูกเปิดขวดแล้ว โดยทางกรมวิทยศาสตร์กล่าวว่า ขวดน้ำที่เปิดแล้วดื่มไม่หมด มีโอกาสเสี่ยงต่อการที่เชื้อโรคต่าง ๆ จะเล็ดลอดเข้าไปปะปนภายในขวด ทำให้น้ำมีเชื้อโรคปนเปื้อน เมื่อนำน้ำในขวดนั้นมาดื่ม จึงเสี่ยงต่อการเกิดอาการเจ็บป่วยเพราะเชื้อโรคเหล่านั้นได้ เช่น ท้องเสีย ท้องร่วง เป็นต้น
ส่วนความกังวลเรื่องสารก่อมะเร็งจากขวดพลาสติก ที่อาจละลายเมื่อถูกความร้อนจากแสงแดด มีความเป็นไปได้ต่ำมาก เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานของภาชนะบรรจุน้ำดื่ม จะต้องเป็นพลาสติก PET คือ พลาสติกใสที่สามารถมองทะลุได้ ไร้สารก่อมะเร็ง สามารถทนความร้อนได้ไม่ต่ำกว่า 60-95 องศาเซลเซียส และไม่ควรนำขวดพลาสติกเหล่านี้กลับมาใช้ซ้ำในการบรรจุน้ำดื่ม
ประเภทพลาสติกที่นำมาใช้ผลิตเป็นวัสดุบรรจุเช่นขวดน้ำในไทยมี 5 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ PE (พอลิเอทิลีน) PET (พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต) PP (พอลิพรอพิลีน) PVC (พอลิไวนิลคลอไรด์) และ PC (พอลิคาร์บอเนต) โดยขวดน้ำที่ทำจากพลาสติก PVC และ PC อาจปนเปื้อนสารเคมี BPA (Bisphenol A) ซึ่งเป็นสารเคมีอันตรายที่ส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบไร้ท่อในร่างกายของเราได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการซื้อน้ำดื่มที่บรรจุในวัสดุที่ทำจากพลาสติกดังกล่าว หรือ สังเกตจากตัวเลขระบุที่บ่งบอกประเภทพลาสติก ได้แก่ เลข 3 หรือ 7 ซึ่งจะพิมพ์อยู่บนบรรจุภัณฑ์

นำขวดน้ำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำได้ไหม
จากการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศพบว่า การนำขวดน้ำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำอาจไม่เป็นอันตรายอย่างที่คิด เนื่องจากสารเคมีในขวดน้ำส่วนใหญ่ไม่ได้เกินมาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ จึงไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคหากจะนำกลับมาใช้ซ้ำ แต่ควรได้รับการทำความสะอาดอย่างเหมาะสมเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีเชื้อโรคและสิ่งสกปรกต่าง ๆ ตกค้างหรือเข้าไปปะปนอยู่ในขวด ทำให้เกิดการเจ็บป่วยเมื่อดื่มน้ำในขวดพลาสติกขวดนั้น ๆ ได้

สรุปน้ำที่ทิ้งไว้ในรถกินได้ไหม
น้ำในขวดพลาสติกทิ้งตากแดดไว้ในรถแต่ยังไม่เปิดดื่ม สามารถดื่มได้ปกติไม่เป็นอันตรายจากสารก่อมะเร็ง แต่ควรดื่มให้หมดหลังจากเปิดดื่มแล้ว หากดื่มน้ำไม่หมดแล้วเก็บไว้ดื่มวันต่อไป อาจป่วยเพราะเชื้อโรค เช่น เชื้อแบคทีเรีย ที่เล็ดลอดเข้าไปปนเปื้อนหลังจากเปิดขวดแล้วดื่มน้ำไม่หมดได้ เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็สามารถดื่มน้ำในขวดพลาสติกที่เก็บไว้ในรถได้อย่างสบายใจ แต่ควรเป็นขวดน้ำที่ยังไม่มีการเปิดนะคะ จะได้ไม่เสี่ยงต่อการป่วยจากเชื้อโรคอื่น ๆ นั่นเอง