เพราะสังคมปัจจุบัน มีความหลากหลาย Generation และยังเป็นยุคเทคโนโลยีผสมผสาน ทำให้มีความหลากหลายของความสามารถ ทั้งทางสมอง อารมณ์ และ การปฏิบัติ เมื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ คนข้างบ้าน สังคมในสถานศึกษา หรือสังคมคนทำงาน เรามักจะพบเห็นคนเก่ง คนฉลาดเสมอ แต่เคยไหมที่เรารู้สึกว่าบางคนเก๊ง เก่ง ฉลาดในวิชาชีพ ฉลาดแค่เปลือกหุ้ม แต่กลับไม่ได้ฉลาดในเนื้อแท้

เรามีวิธีสังเกตคนฉลาดแท้ หรือ แค่ฉลาดในวิชาชีพ หรือ แค่อวดฉลาด โดยดูได้จากอาการ 9 ข้อต่อไปนี้ เพราะเป็นวิธีคิดแบบคนฉลาดแท้จริงเขาฝึกฝนและใช้ปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน
9 ข้อ คนฉลาด มีอะไรบ้าง

1. อยู่กับปัจจุบัน
เพราะ “อดีต” คือ สิ่งที่ผ่านไปแล้ว ไม่สามารถนำย้อนกลับมาแก้ไขอะไรได้อีก แม้ว่าต้องการแค่ไหนก็ตาม ดังนั้น การจมอยู่แต่ในความคิดกับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว นอกจากจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว ยังทำให้เรารู้สึกหดหู่ ใจเป็นทุกข์ และเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ สู้นำเวลาการจมอยู่ในอดีตนั้น มาหาทางแก้ไข หรือคิดหาวิธีปรับปรุงในสิ่งที่เคยผิดพลาดไปแล้วดีกว่า ส่วนในเรื่องของ “อนาคต” คือ สิ่งที่ยังมาไม่ถึง ซึ่งเราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้เลย ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง จะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากแผนการที่เราตั้งใจไว้หรือไม่อย่างไร จึงควรโฟกัสอยู่กับ “ปัจจุบัน” ว่าขณะนี้ตนกำลังทำอะไรอยู่ เพื่อมุ่งความสนใจและความตั้งใจในสิ่งที่กำลังทำอยู่ หรือสิ่งที่อยู่ข้างหน้าเพียงสิ่งเดียว การจดจ่ออยู่สิ่งเดียวจะช่วยให้เรามีสติต่อการงานข้างหน้า ทำให้ผลของงานออกมาได้อย่างไม่ผิดพลาด หรือผิดพลาดได้น้อยลง และพระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ว่า เราควรอยู่กับปัจจุบัน ทำทีละอย่าง รู้ทีละเรื่อง ทำให้ความทุกข์เข้าถึงเราได้น้อยลง เมื่อทุกข์น้อย ก็สุขมากขึ้น เท่านั้นเอง

2. เข้าใจธรรมชาติ
เข้าใจความจริง ทุกข์ หรือ สุข เดี๋ยวมันก็ผ่านไป เพราะเข้าใจว่าไม่มีอะไรแน่นอน เป็นสัจธรรมของทุกสิ่ง ที่เมื่อ “เกิดขึ้น” แล้ว “ตั้งอยู่” และ “ดับไป” ไม่มีสิ่งใดจีรัง หรือ ยั่งยืนตลอดไป เมื่อทุกข์ก็ให้รู้ว่าทุกข์ อย่าเอาความรู้สึกทั้งหมดของชีวิตจมอยู่แต่กับความทุข์ ให้โอกาสความสุขเข้ามาในชีวิตบ้าง เพราะเมื่อไรที่เราแบกก้อนหินไว้ตลอดเวลา เราก็จะเมื่อย เหนื่อย ล้า ตลอดเวลาเช่นกัน แต่ถ้านำหินวางลงบ้าง เราก็จะสัมผัสได้ถึงความสุขจากการไม่หนัก ไม่เมื่อย ไม่เหนื่อย และไม่ล้า หินก้อนนั้นหากโยนได้ให้โยนไปเสีย เราก็จะสุขได้ยาว ๆ แต่ถ้าจำเป็นต้องแบกหินก้อนนั้นต่อด้วยเหตุผลบางประการ ก็หาโอกาสวางมันลงเสียบ้าง เพื่อเป็นการพักยก เสมือนให้น้ำนักมวยได้มีแรงชกต่อในยกต่อไป ฝึกฝนและทำความเข้าใจไปเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งเราก็จะพบว่า ความทุกข์มีอยู่รอบตัว ความสุขก็เช่นกัน แค่อยู่ที่เราเลือกจะมอง และทำความเข้าใจมันให้ได้เท่านั้นเอง

3. มองตัวเองให้เล็กเข้าไว้
คนฉลาดจะไม่พยายามทำตัวให้เป็นคนสำคัญ แต่จะทำตัวเองเป็นคนที่แสนจะธรรมดา ไมให้ความสำคัญกับตนเองมากไป ไม่คิดว่าตนเองเก่งหรือเหนือกว่าคนอื่น หรือ แม้มากความสามารถแต่ก็ไม่ข่มคนอื่น หรือด้อยค่าคนอื่นให้รู้สึกต่ำกว่าตน ไม่ดูถูกหรือปรามาสผู้อื่น แต่จะให้เกียรติ และให้ค่ากับทุกชีวิต เพราะคิดว่าตนเป็นเพียงแค่อีกชีวิตเล็ก ๆ ชีวิตหนึ่งในโลกนี้เท่านั้น สำหรับใครที่ต้องการฝึกตนให้ฉลาดทางอารมณ์ พึงระลึกข้อนี้และฝีกฝนให้เป็นนิสัย เพราะจะช่วยให้มี EQ ข้ออื่น ๆ ได้อย่างง่ายดาย

4. เข้าใจในเรื่องของถูกการนินทา
มีใครในโลกนี้ที่ไม่ถูกนินทาบ้าง เพราะแม้แต่พระพุทธเจ้ายังไม่พ้นการถูกนินทา พระอริยะผู้มีศีลมีธรรม กษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม ยังไม่หลุดพ้นครหานินทา จึงเป็นไปได้ยากที่เราจะไม่ถูกพูดถึง ไม่ว่าจะในทางดีหรือไม่ดี ตราบใดที่เรายังคงต้องอยู่ในสังคม คนฉลาดจะทำความเข้าใจกับมัน และทำหูทวนลม นิ่งเฉย ไม่ให้ค่าความสำคัญกับคำนินทาเหล่านั้น เพราะชีวิตมีอะไรที่สำคัญมากกว่านั้นให้ใส่ใจและจดจำ สำหรับใครที่ต้องการฝึกตน ให้เริ่มจากการคิดเสียว่า “ปากเป็นของเขา เราไปกำหนดอะไรไม่ได้ แต่หูและความคิดเป็นของเรา ถ้าอยากมีความสุขในชีวิต ก็ต้องจัดการ หู และ ความคิด ของตัวเราให้ได้เสียก่อน” เมื่อฝึกไปเรื่อย ๆ คุณจะพบว่าตัวเองเก่งขึ้น และฉลาดในการอยู่ได้อย่างไม่ทุกข์ท่ามกลางคำนินทา

5. เป็นคนนิ่ง
การเป็นคนนิ่งในที่นี้ ไม่ใช่คนนิ่ง วางเฉย หรือคนเก็บตัวพูดน้อยแบบ introvert แต่เป็นคนนิ่งในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องพูด ไม่พูดมากแม้ว่าสิ่งนั้นตนจะเป็นผู้รู้ข้อมูลหรือเชี่ยวชาญก็ตาม และไม่พูดมากไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกหรือผิด หากพูดแล้วไม่เกิดประโยชน์ และยิ่งเป็นเรื่องไม่ดีก็ไม่ควรพูดเลย เพราะการที่เก็บสิ่งเหล่านั้นมาคิดหรือนำมาพูด พูดในทางเสียหาย มีแต่ทำให้จิตใจตนเองแย่ลง และทุกข์กับการจมอยู่กับสิ่งนั้น

6. เป็นคนสบาย ๆ
เป็นคนสบาย ๆ แบบคนฉลาด คือ ไม่ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบมากเกินไป เพราะเป็นการกำหนดและตีกรอบให้ตนเองมีแต่ความอึดอัดและเป็นทุกข์ บางคนพยายามสร้างความสมบูรณ์แบบให้ตนเอง เพื่อให้เป็นเปลือกที่สวยงามให้คนอื่นได้ชื่นชมยกย่อง จนบางครั้งอาจกลายเป็นการสร้างความลำบากให้ตนเอง หรือเบียดเบียนคนอื่นไปด้วย อย่างที่เรามักจะเห็นหลายคนยอมเป็นหนี้เพื่อการสร้างภาพให้กับตนเอง เช่น จมูกไม่สวย ไปเสริมจมูก พอจมูกสวยแล้ว อ้าว ตาไม่สวย ไม่เข้ากับจมูกที่ทำมา ไปทำตาต่อ ทำเสร็จ อันนี้ อันนั้นไม่สวยรับกับจมูกและตาที่ทำมา ต้องไปทำเพิ่ม ฯลฯ และพอสวยสมบูรณ์แบบดั่งใจ ผ่านไประยะหนึ่งก็ต้องไปเติม เพราะที่ทำมาเริ่มเสื่อมไปตามเวลา ทำวนลูปไปเรื่อย ไม่จบสิ้น คนมีเงินก็เบียดเบียนตนเอง แต่คนไม่มีเงินก็ต้องไปหาหยิบยืม ลำบากตนเองและเบียดเบียนผู้อื่น แต่คนฉลาดจะเข้าใจได้ดีว่า ความสมบูรณ์แบบนั้นไม่มีจริง จึงไม่จำเป็นต้องดิ้นรนในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ ไม่ต้องขวนขวายหาความสมบูรณ์แบบเลิศเลอที่ไม่มีอยู่จริง เพราะในที่สุด ทุกสิ่งในโลกนี้ย่อมมีเสื่อมไปตามกาลเวลาเสมอ ฝึกเป็นคนง่าย ๆ สบาย ๆ พอใจกับสิ่งที่มี สุขใจได้แม้กับสิ่งเล็ก ๆ รอบตัว เป็นลักษณะของคนฉลาดทางอารมณ์

7. ไม่เป็นทาสของเงิน
ข้อนี้จะเชื่อมโยงกับข้อที่แล้ว การเป็นคนสบาย ๆ พึงพอใจในสิ่งที่ตนมี ไม่ดิ้นรนหาความสมบูรณ์แบบ ไม่ต้องหาซื้อของแพง ๆ แบรนด์ดัง ๆ มาประโคมตัว เพื่อให้เกิดเป็นภาพที่เพอร์เฟ็กต์ ให้คนอื่นมองว่าดูดี มีเงิน มีฐานะ มีคลาส ฯลฯ แม้ว่า “เงิน” คือ แรงขับเคลื่อนในการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน เพราะแทบทุกอย่างจะเกิดขึ้นและจัดการได้ง่ายกว่าหากมีเงิน จังเป็นเหตุผลที่ทำให้ทุกคนต้องดิ้นรน และทำงานหนักจนล้มป่วยเพื่อให้ได้เงินมาเป็นตัวแปรในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่คนฉลาดจะรู้จักพอใจและนำสิ่งที่ตนเองมีอยู่แล้วมาใช้อย่างชาญฉลาด โดยไม่จำเป็นต้องเสริมแต่งภาพจนดิ้นรนทำให้ตนเองเหนื่อยจนเกินไป คนฉลาดรู้จัก “เพียงพอ” อย่าง “พอเพียง” จึงทำให้ไม่เป็นทาสของเงิน

8. ไม่เป็นคนสะสม
การไม่เป็นคนสะสม เชื่อมโยงกับข้อ 6-7 การเป็นคนสบาย ๆ ไม่สะสมอะไรให้เป็นภาระ ไม่ดิ้นรนขวนขวายให้ได้มาเพื่อคอลเลคชัน ไม่ต้องเสียเวลาในการหา ไม่ต้องเสียเงินซื้อของสะสม ทำให้ไม่ต้องเป็นทาสของเงิน บางคนยอมเสียเงินเพื่อซื้อของสะสม เห็นคนมีชื่อเสียงสะสมของ (ที่มักจะมีราคาแพงมากเว่อร์ ๆ ) ก็สะสมตามเขา โดยไม่ได้คำนึงถึงสถานะทางการเงินและประสิทธิภาพของตน จนกลายเป็นทาสของเงินในที่สุด คนฉลาดรู้ดีว่าไม่มีอะไรที่สะสมแล้วไม่เป็นภาระ นอกจากการ “สะสมความดี” ที่ยิ่งสะสมมากเท่าไร ก็ยิ่งดีกับตนเอง และยังเป็นมงคลชีวิตอีกด้วย

9. เป็นคนเสียสละ ยอมเสียเปรียบบ้าง
หลายคนมักจะมองว่า “การเสียสละ” เป็นการกระทำของคนโง่เขลา จึงมักเอาเปรียบจากความใจดี ความยอมเสียสละของคนโง่ (ในความคิดของคนที่ชอบเอาเปรียบหรือแสวงหาผลประโยชน์จากผู้อื่น) เหล่านั้น มีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่มักจะคิดว่าการตักตวงผลประโยชน์จากคนอื่นให้ได้มากที่สุดคือ ตนฉลาด โดยไม่เฉลียวใจเลยว่าแท้จริงแล้วนั่นคือ ความเห็นแก่ตัว จึงทำให้มีคนเห็นแก่ตัวในทุกสังคม และบางคนก็เป็นคนเห็นแก่ตัวโดยไม่รู้ตัว เพราะคิดว่าสิ่งที่ตนทำเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป ในขณะที่คนฉลาดจะยอมเสียเปรียบให้ผู้อื่นบ้าง แม้ว่าจะรู้อยู่แก่ใจว่ากำลังโดนเอาเปรียบ หรือโดนหลอกใช้อยู่ก็ตาม เพราะหากไม่ยอมเสียสละให้เสียบ้าง ก็จะกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว และไม่มีความสุขจากความคิดจะเอาชนะ ความทุกข์จากการปะทะกับคนที่จ้องจะเอาเปรียบและคนรอบตัว และคนฉลาดมักจะคิดและมองว่า การเสียสละ คือ “การให้” และ “การปลดปล่อย”
ให้ : ให้ตนได้สร้างบารมี ให้ตนไม่ทุกข์จากการปะทะอารมณ์ ให้ตนหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรง ให้ตนได้ฝึกฝนจิตใจสูงขึ้น
ปลดปล่อย : ปลดปล่อยความเห็นแก่ตัว ปลดปล่อยความคับแคบของจิตใจ ปลดปล่อยภาระจากการสะสม
ดังนั้น คนที่ยอมเสียสละ คนที่ยอมเสียเปรียบ อาจเป็นคนโง่ในสายตาของคนทั่วไป แต่คนฉลาดอย่างแท้จริงนั้นย่อมรู้ดีว่า “การเสียสละ” และ “การให้อภัย” เป็นอัตลักษณ์ของคนฉลาด เพราะเป็นการสะสมบารมีขั้นสูง ซึ่งคนฉลาดเท่านั้นที่ฝึกและปฏิบัติกัน

ใครอยากเป็นคนฉลาดแท้โดยเนื้อใน ลองฝึก 9 ข้อ คนฉลาด กันดูค่ะ แล้วจะพบว่า คุณเก่งขึ้นในด้านการจัดการความรู้สึกของตนเอง แม้ว่าจะเกิดอารมณ์ไม่ดีในด้านใด แต่คุณจะมูฟออนได้อย่างรวดเร็ว เพราะตราบใดที่เรายังคงเป็นมนุษย์ทั่วไป ย่อมต้องเกิดความเขลาด้านลบได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็น ความโกรธ ความเกลียด ความหดหู่จากการจมปลักในอดีต ความกังวลต่ออนาคต ความรู้สึกต่อการถูกนินทา หรือแม้แต่ความต้องการเป็นคนสำคัญอยู่เสมอ ความรู้สึกเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นคนประเภทใด เพียงแต่ … คนฉลาดโดยแท้ จะสามารถจัดการความรู้สึก อารมณ์ จากสิ่งที่กระทบเหล่านั้นได้เร็วกว่าคนทั่วไป และรู้วิธีเปลี่ยนเส้นทางให้ตนเองได้เดินบนหนทางแห่งความทุกข์น้อยลง