มวยไทย คือ ศิลปะการต่อสู้ของไทยที่มีพื้นฐานมาจาก มวยโบราณ โดยมีกระบวนท่าที่ผสมผสานการใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเป็นอาวุธ เพื่อใช้ในการรุกคู่ต่อสู้ และตั้งรับเพื่อป้องกันตัว ซึ่งกระบวนท่าพื้นฐานมวยไทย เรียกว่า แม่ไม้มวยไทย อันเป็นกระบวนท่าหลัก ๆ ของการต่อสู้แบบมวยไทย ก่อนจะถูกนำไปแยกย่อยเป็นท่ามวยในปัจจุบัน

แม่ไม้มวยไทยคืออะไร
แม่ไม้มวยไทย คือ ท่ามวยไทยพื้นฐานที่ครูบาอาจารย์ผู้มีความรู้ในแต่ละสำนักได้คิดค้นขึ้น โดยการนำศาสรต์และศิลปแห่งการต่อสู้ประยุกต์กับการเคลื่อนไหวของอวัยวะในร่างกาย จนกลายออกมาเป็นกระบวนท่า ที่มีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันไป
แม่ไม้มวยไทยมีกี่ท่า
แม่ไม้มวยไทยในโบราณได้มีการถูกแบ่งออกตามลักษณะการแก้ทางมวยหรือเชิงมวย ซึ่งมีหลายร้อยกระบวนท่า แต่กระบวนท่าแม่ไม้มวยไทยที่ยังได้รับการยกย่องจนถึงปัจจุบัน มีอยู่ 15 กระบวนท่าด้วยกัน
แม่ไม้มวยไทย 15 ท่า มีอะไรบ้าง

1. สลับฟันปลา (รับวงนอก)
เป็นท่าแม่ไม้ครูเบื้องต้น ใช้ในการรับหมัดตรงของคู่ต่อสู้ โดยหลบออกนอกลำแขนคู่ต่อสู้ ทำให้หมัดเลยหน้าไป

2. ปักษาแหวกรัง (รับวงใน)
กลมวยการเข้าสู่วงใน สำหรับใช้ลูกไม้อื่น ๆ ต่อไป โดยหมัดชิดกันคล้ายท่าพนมมือ กางศอกประมาณ 1 คืบ ศีรษะและใบหน้ากำบังระหว่างแขนทั้งสอง ในขณะที่ใช้สายตาคอยชำเลืองดูหมัดของฝ่ายรุก

3. ชวาซัดหอก (ศอกวงใน)
ใช้เป็นหลักสำหรับหลบหมัดตรง โดยออกทางวงนอกแล้วโต้ตอบด้วยการงอศอกกระแทกชายโครงใต้แขนของฝ่ายรุกอย่างรวดเร็ว

4. อิเหนาแทงกริช (ศอกวงใน)
ใช้มือข้างหนึ่งปัดหมัดตรงของคู่ต่อสู้ และใช้ศอกอีกข้างเข้ารุกวงใน ด้วยการตีระดับชายโครงของฝ่ายรุก

5. ยอเขาพระสุเมรุ (ปล่อยหมัดต่ำ ชกเสยปลายคาง ก้มตัว 45 องศา)
ใช้ในการรับหมัดตรงในลักษณะย่อก้มต่ำเข้าวงใน ให้หมัดผ่านศีรษะ แล้วสวนด้วยการชกเสยปลายคาง

6. ตาเถรค้ำฟัก (ปล่อยหมัดสูง ชกปลายคาง ก้มต้ว 60 องศา)
ใช้ป้องกันหมัด โดยใช้แขนปัดหมัดของฝ่ายรุก แล้วต่อยสวนเข้าที่ปลายคาง

7. มอญยันหลัก (ตั้งรับด้วยการถีบ)
ตั้งรับด้วยการใช้แขนทั้งสองป้องหน้า แล้วใช้เท้าถีบเข้ายอดอกหรือท้องคู่ต่อสู้

8. ปักลูกทอย (รับเตะด้วยศอก)
ใช้ศอกกระแทกเข้าที่หน้าแข้งของอีกฝ่ายที่เตะเข้ามา เป็นการรับลูกเตะเฉียงของฝ่ายรุก

9. จรเข้ฟาดหาง (รับหมัดด้วยการฟาดส้นเท้าไปด้านหลัง)
ใช้ส้นเท้าฟาดไปทางด้านหลัง เมื่อคู่ต่อสู้ชกเข้ามาแล้วเสียหลัก ใช้การหมุนตัวเตะด้วยการเหวี่ยงส้นเท้าฟาดไปด้านหลังของอีกฝ่ายทันที

10. หักงวงไอยรา (ศอกโคนขา)
แม่ไม้ที่ใช้แก้การเตะด้วยการตัดกำลังขา โดยใช้มือจับเท้าของคู่ที่เตะเข้ามาแล้วยกให้สูง และใช้ศอกกระแทกเข้าโคนขาทันที

11. นาคาบิดหาง (บิดขาจับตีเข่าที่น่องหรือข้อต่อเข่าของฝ่ายรุก)
ใช้รับการเตะ โดยใช้มือจับปลายเท้าแล้วบิด พร้อมทั้งตีเข้ากระแทกเข้าน่องหรือข้อเข่าคู่ต่อสู้

12. วิรุฬหกกกลับ (รับเตะด้วยการถีบ)
ป้องกันการเตะ โดยใช้ส้นเท้ากระแทกบริเวณโคนขาอีกฝ่าย ให้ขาเคล็ดและแพลง ซึ่งการถีบนั้นจะต้องเร็วและแรงจนอีกฝ่ายเสียหลัก

13. ดับชวาลา (ปัดหมัด ชกตอบ)
ใช้แก้หมัดตรงของอีกฝ่าย ด้วยการชกสวนกลับเข้าบริเวณใบหน้า

14. ขุนยักษ์จับลิง (ปัดหมัด ชกตอบ)
เป็นกลมวยรวมท่ารับแบบเป็นชุด เพราะฝ่ายรุกจะปล่อยหมัด เตะ เข่า ศอก รัวมาเป็นชุด ฝ่ายรับก็ตั้งรับแบบพัลวันเช่นกัน โดยแบ่งออกเป็น 3 ตอนด้วยกัน
- ตอนที่ 1 ฝ่ายรุกชกหมัดตรงเช้าใบหน้า ฝ่ายรับใช้แขนปัดหมัดคู่ต่อสู้ให้พ้นจากตัว
- ตอนที่ 2 ฝ่ายรุกยกเท้าเตะกราดบริเวณชายโครง ฝ่ายรับรีบโยกตัวถอยไปข้างหลัง แล้วย่อตัว ใช้ศอกกระแทกไปที่ขาขวาท่อนบนคู่ต่อสู้
- ตอนที่ 3 ฝ่ายรุกใช้ศอกกระแทกเข้ามาที่ศีรษะ ฝ่ายรับรีบงอแขนขึ้นรับแรงปะทะจากศอกของอีกฝ่าย แล้วรีบโยกตัวถอยไปด้านหลังอย่างรวดเร็ว

15. หักคอเอราวัณ (โน้มคอ ตีเข่า)
ใช้มือทั้งสองข้างจับต้นคอคู่ต่อสู้แล้วโน้มลงต่ำ แล้วยกเข่ากระแทกไปยังใบหน้าของอีกฝ่าย