มงคลชีวิต 38 ประการหรือ สูตรมงคล 38 ประการ เป็นข้อปฏิบัติเพื่อความเป็นมงคลชีวิตที่มี 38 ข้อ ด้วยกัน ซึ่งหากว่าไปตามแต่ละข้อนั้นก็จะมีเนื้อหาที่ยาวและสามารถรวบรวมเป็นเล่มไว้ศึกษาเลยทีเดียว ในบทความนี้ได้ทำการแบ่งเป็นหมวดหมู่ และทำเป็นฉบับย่อส่วนของสูตรมงคลให้พอเข้าใจสั้นๆได้ดังนี้
มงคลสูตร 38 ข้อ แบ่งได้เป็น 10 หมู่ โดย 5 หมู่แรกเป็นข้อปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ส่วน 5 หมู่หลัง จะเป็นการฝึกจิตใจโดยตรง โดยบทความนี้เราจะขอแบ่งมากล่าวถึง 5 หมู่แรก ซึ่งมีดังต่อไปนี้
รูปมงคล 38

หมู่ที่ 1 ฝึกให้เป็นคนดี
ประกอบด้วย มงคล 38 ข้อ 1 ไม่คบคนพาล มงคลข้อที่ 2 คบบัณฑิต และ มงคลข้อที่ 3 บูชาบุคคลที่ควรบูชา ซึ่งหมวดหมู่นี้เป็นการฝึกตนให้เป็นคนดี ด้วยนิสัยของคนเรามักจะมาจากคนรอบข้าง และสิ่งแวดล้อม มีหลายคนที่คบคนเช่นไรก็มักจะซึมซับเป็นคนเช่นนั้นโดยไม่รู้ตัว เช่น เมื่ออยู่ในกลุ่มขี้เหล้า ก็มักจะต้องมีการดื่มตามเขา แรกๆอาจดื่มเล็กน้อยด้วยความเกรงใจ แต่เมื่อบ่อยๆครั้งเข้าก็จะดื่มเพิ่มขึ้นจนอาจกลายเป็นขี้เหล้าไปโดยปริยาย ดังนั้นหากไม่ต้องการเป็นคนที่นิสัยไม่ดี ก็ต้องเริ่มจาก…
ไม่คบคนพาล
“คนพาล” ในที่นี้คือ “ผู้มีใจพาลเกเร” มีความประพฤติที่หลงผิด ชอบว่าร้ายนินทาผู้อื่นให้เสียหาย ลักขโมย ปล้นจี้ ตั้งวงดื่มเหล้าเป็นประจำ เป็นต้น การหลีกเลี่ยงที่จะคบคนพาล เป็นการป้องกันตนเองไม่ให้มีความหลงผิด ที่อาจซึมซับจากการคลุกคลี หรือการยั่วยุ เพื่อให้เป็นพวกเดียวกัน และทำอะไรผิดๆตามไปด้วย เพราะจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่นได้ เช่น อาจหลงคบคนเล่นการพนัน ก็เล่นตามเขาจนติดการพนัน เป็นผีการพนัน หมดเงินหมดก็ไปปล้นจี้เขาเพื่อมาเล่นหรือมาจ่ายค่าหนี้พนัน ดังที่เรามักจะเห็นข่าวอยู่บ่อยๆ เป็นต้น
คบบัณฑิต
“บัณฑิต” ในที่นี้หมายถึง “คนดี” คนที่มีความประพฤติดี ทั้งกาย วาจา ใจ เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ เพื่อรับนิสัยดีๆ ซึมซับคุณธรรมต่างๆจากผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเข้าสู่ตัวเรา
บูชาบุคคลที่ควรบูชา
บุคคลที่ควรบูชา ในที่นี้ คือผู้ที่มีความประพฤติดีด้วยกาย วาจา ใจ และเปี่ยมด้วยคุณธรรม บูชาและเคารพเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างในการปฏิบัติตาม เช่น บูชาพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ที่ดำรงตนในศีล 227 ข้อ มีจริยาวัตรงดงาม ไม่ใช่คนที่ห่มผ้าเหลืองอวดอ้างความศักดิ์สิทธ์ หรือหมอดู คนทรงเจ้า

หมู่ที่ 2 สร้างความพร้อมเพื่อฝึกตนเอง
สร้างความพร้อมเพื่อฝึกตนเองด้วยมงคลชีวิตข้อที่ 4 อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม มงคลชีวิตข้อที่ 5 มีบุญวาสนามาก่อน และ มงคลชีวิตข้อที่ 6 ตั้งตนชอบ
อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม
หมายถึง อยู่ในถิ่นที่สิ่งแวดล้อมโดยรอบดี ไม่เป็นพิษภัยต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ สามารถประกอบกิจการงานอันเป็นสัมมาอาชีพเจริญก้าวหน้าได้โดยง่าย และสร้างคุณงามความดีได้เต็มที่ โดยองค์ประกอบของถิ่นที่เหมาะสมทั้งในทางโลกและทางธรรม ได้แก่ มีสถานศึกษาให้ความรู้ดี มีการปกครองบริหารราชการบ้านเมืองดี มีพระภิกษุและฆราวาสปฏิบัติธรรมดี ไม่มีนักเลง-อันธพาล หรือโจรผู้ร้าย มีความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร ไม่ขาดแคลน สภาพภูมิประเทศและสภาพอากาศดี ไม่หนาว ไม่ร้อนเกินไป การคมนาคมเดินทางสะดวก
มีบุญวาสนามาก่อน
“บุญ” คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจแล้วเป็นสุข สะอาด สงบ ทำให้เลือกคิดแต่ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ดีงาม เหมาะสม และตามมาด้วย การพูดดี ทำดี เป็นลำดับต่อไป ซึ่งบุญที่เกิดขึ้นแล้ว จะส่งผลปรุงแต่งให้จิตใจเราดีและมีคุณภาพ เบาสบาย ไม่อึดอัด ไม่เป็นทุกข์กังวล บุญในกาลก่อนจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
- บุญช่วงไกล คือ คุณงามความดีที่เราทำไว้ในภพชาติก่อน ซึ่งส่งผลมาถึงภพชาติปัจจุบัน ในเรื่องของรูปร่าง หน้าตา ฐานะ หากมีการสะสมมาดี ก็ส่งผลให้เกิดมามีอวัยวะครบสมบูรณ์ สุขภาพแข็งแรง ไม่พิการ มีสติปัญญาดี
- บุญช่วงใกล้ คือ คุณงามความดีที่เราทำไว้ในภพชาติปัจจุบัน มีจิตใจมุ่งมั่นในการปฏิบัติตนดี ทั้งกาย วาจา ใจ ไม่ว่าจะในทางโลกหรือทางธรรม
ตั้งตนชอบ
หมายถึง การตั้งเป้าหมายชีวิตทั้งในทางโลกและทางธรรมไว้ถูกต้อง แล้วประคับประคองตนให้ดำเนินชีวิตไปตามเป้าหมายนั้นด้วยความระมัดระวัง โดยเป้าหมายชีวิตของคนเราทุกคนมี 3 ระดับ
- เป้าหมายชีวิตขั้นต้น คือ การตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์ในชาตินี้ ตั้งเป้าหมายในการดำรงอาชีพที่สุจริต เพื่อเลี้ยงชีพตนและคนในครอบครัว แล้วมุ่งมั่นฝึกฝนให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้
- เป้าหมายชีวิตขั้นกลาง คือ การตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์ในชาติหน้า ด้วยการสะสมสร้างกุศล บารมี ในทุกๆโอกาส เพื่อเป็นเสบียงบุญในภพชาติหน้า เพราะสัตว์ใดที่ยังไม่สูญสิ้นกิเลส เมื่อตายจากโลกนี้แล้วก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป
- เป้าหมายชีวิตขั้นสูงสุด คือ การตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง ด้วยการเพียรปฏิบัติธรรมทุกรูปแบบ เพื่อปราบกิเลสให้หมดสิ้น แล้วเข้าสู่นิพพานตามรอยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้หลุดพ้นจากวัฎสงสาร ไม่ต้องกลับมาเกิดอีกในทุกภพชาติ

หมู่ที่ 3 ฝึกตนให้เป็นคนมีประโยชน์
ประกอบไปด้วยมงคลชีวิตข้อ 7 เป็นพหูสูตร มงคลชีวิตข้อที่ 8 มีศิลปะ และมงคลชีวิตข้อที่ 9 มีวินัย
เป็นพหูสูตร
พหูสูตร หมายถึง ผู้มีความรู้ คือ “ฉลาดรู้” หรือ “รู้มาก” นั้นเอง พหูสูตรเป็นผู้รู้หลักวิชาการ รู้ทฤษฎีมากจากการศึกษาเล่าเรียน ได้ยินได้ฟังมามาก จนมีความรู้ความเข้าใจและชำนาญ นำไปสู่ “ปัญญา” ซึ่งจะเป็นกุญแจไขไปสู่หนทางความสำเร็จ ชื่อเสียง และทุกสิ่งที่ปรารถนา แต่พหูสูตรจะมีความแตกต่างจากบัณฑิต แต่ยังมีคนเรียกผู้สำเร็จวิชาการทางโลกว่าบัณฑิต ทั้งที่มีความต่างกันอย่างสิ้นเชิง
- พหูสูตร คือ ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ จากการศึกษา โดยที่อาจไม่มีคุณธรรม หรือไม่มีจริยธรรม กล่าวง่ายๆว่า “เป็นผู้รู้มากในทางโลก” แต่ไม่ได้มุ่งเน้นในทางธรรม แม้จะสามารถประสบความสำเร็จในทางโลก แต่ไม่อาจหลุดพ้นจากอบายภูมิ
- บัณฑิต คือ ผู้มีจริยธรรม คุณธรรม มุ่งเน้นประพฤติดีทางใจ วาจา กาย ไม่ว่าผู้นั้นจะมีความรู้ความเก่งมากหรือน้อยก็ตาม แต่บัณฑิต คือผู้มีความฉลาดรู้ในทางธรรม และใช้ความรู้นั้นเพื่อเป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น ซี่งจะเป็นผู้ที่ไม่ตกไปสู่อบายภูมิ
มีศิลปะ
ศิลปะ แปลว่า การแสดงออกให้งดงาม น่าพึงชม หรือ “ฉลาดทำ” คือ “ทำเป็น” นั่นเอง พหูสูตร คือผู้ฉลาดรู้ รู้หลักทฤษฎี ส่วน ศิลปะ คือ ความสามารถในการนำความรู้ไปปฏิบัติให้เกิดผล ซึ่งศิลปะมี 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
- ทางกาย คือ ฉลาดทำ เป็นความเชี่ยวชาญในการช่างอาชีพ เช่น ช่างภาพ ช่างทอ ช่างวาด ช่างออกแบบ หมด เชฟ ฯลฯ ตลอดไปจนถึงการมีมารยาท การสำรวมกาย การแสดงความเคารพ ล้วนเป็นศิลปะทั้งสิ้น
- ทางวาจา คือ ฉลาดพูด มีวาทศิลป์ รู้จักพูดในสิ่งที่ดี พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์
- ทางใจ คือ ฉลาดคิด มีสติสัมปชัญญะ ควบคุมความคิดไปในทางที่ดี คิดในทางสร้างสรร หรือรู้เท่าทันความคิดไม่ดีที่เกิดขึ้นแล้วปรับเปลี่ยนมุมมอง เพื่อยกระดับจิตใจตนให้สูงขึ้น
ดังนั้น ศิลปะ จึงหมายถึง คิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น แต่ก็ใช่ว่า พหูสูตร ผู้มีความรู้จะมีศิลปะในการนำไปใช้กันทุกคน เช่น ผู้จบการศึกษาในหลักสูตรระดับสูง จากมหาวิทยาลัยดังๆ มีความรู้ในวิชาการ แต่นำหลักความรู้นั้นไปใช้ในเส้นทางผิดๆ นำไปใช้คดโกงและเอาเปรียบผู้อื่น หรือประพฤติตนเป็นคนไร้มารยาท ไร้สัมมาคารวะ เป็นต้น
มีวินัย
วินัย คือ ระเบียบหรือข้อกำหนดสำหรับควบคุมคนให้คนยืดถือปฏิบัติตาม เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการอยู่ร่วมกันของสังคมนั้นๆ วินัยมี 2 ประเภท
- วินัยในทางโลก เช่น กฏหมาย ข้อบังคับ ธรรมเนียม บัญญัติ พระราชกฤษฎีกา รวมไปถึงความรับผิดชอบต่อสังคม
- วินัยในทางธรรม คือ ศีล แปลว่า ปกติ ฉะนั้น ใครผิดศีล คือ คนผิดปกติ และที่ใดมีคนรักษาศีล ที่นั่นย่อมมีความสงบ เนื่องจาก ศีล เป็นข้อปฏิบัติที่มุ่งเน้น ให้ละเว้นจากการคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว โดยวินัยของฆราวาสหรือปุถุชนทั่วไปคือ ศีล 5 ศีล 8 ส่วนวินัยสำหรับผู้ออกบวช ได้แก่ ศีลอุโบสถ ศีล10 ศีล 227 และศีล 311
มีวาจาสุภาษิต
วาจาสุภาษิต หมายถึง คำพูดที่ผู้พูดกลั่นกรองไว้ดีแล้วด้วยใจที่ผ่องใส ไม่ใช่สักแต่พูด วาจาสุภาษิตมีองค์ประกอบ 4 ประการด้วยกัน ได้แก่
- เป็นคำจริง ไม่ปั้นแต่งขึ้น ไม่บิดเบือน ไม่เสริมความ ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
- เป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดที่สุภาพ ไม่เป็นคำหยาบ คำด่า เสียดสี ประชดประชัน ที่ฟังแล้วระคายหู ระคายใจ
- พูดแล้วเกิดประโยชน์ มีผลดีต่อผู้พูดและผู้ฟัง เพราะถึงแม้จะเป็นคำพูดที่สุภาพ และเป็นความจริง แต่ถ้าพูดไปแล้วไม่มีประโยชน์ กลับจะทำให้เกิดโทษ หรือทำให้ผู้ฟังไม่สบายใจ ก็ไม่ควรพูด
- พูดด้วยจิตเมตตา และปรารถนาดีอย่างจริงใจ ให้คนฟังมีความสุข หรือเจริญยิ่งๆขึ้นไป แต่ต่อให้เป็นเรื่องจริง เป็นคำสุภาพ พูดแล้วเกิดประโยชน์ แต่จิตใจคนพูดยังคงขุ่นมัว พูดด้วยความอิจฉา ก็ไม่ควรพูด
- พูดถูกกาละเทศะ คือพูดให้ถูกช่วงเวลาและสถานที่ เพราะถ้าหากคนฟังยังไม่พร้อมจะรับ แม้จะเป็นคำสุภาพ เป็นเรื่องจริง มีประโยชน์ ก็อาจกลายเป็นโทษ หรือถูกมองว่าผู้พูดมีเจตนาที่ไม่ดีได้

มงคลหมู่ที่ 4 บำเพ็ญประโยชน์ต่อครอบครัว
การบำเพ็ญประโยชน์ต่อครอบครัว ประกอบไปด้วย มงคลชีวิตข้อ11 บำรุงบิดามารดา มงคลชีวิตข้อ12 เลี้ยงดูบุตร มงคลชีวิตข้อ13 สงเคราะห์ภรรยา(สามี) และ มงคลชีวิตข้อ14 ทำงานไม่คั่งค้าง
บำรุงบิดามารดา
ด้วยบิดามารดานั้น เปรียบเสมือนเป็น พรหม เทวดา ครู และพระอรหันต์ของลูก เป็นผู้มีพระคุณอันสูงสุดของลูก ดังนั้นลูกทุกคนจึงควรมีความ
- กตัญญู คือ รู้คุณ เห็นคุณค่าของพวกท่านอย่างแท้จริง ไม่ใช่สักแต่ปากว่าเท่านั้น
- กตเวที คือ ตอบแทนคุณ ด้วยการประกาศคุณของท่าน คือ การประพฤติตนเป็นคนดี ทำให้คนอื่นสรรเสริญถึงการอบรมนิสัยของพ่อแม่ ที่ทำให้มีลูกดี ช่วยเหลือกิจการงาน ดูแลความเป็นอยู่ของบิดามารให้สะดวกสบาย และเมื่อยามป่วยไข้ก็ดูแลรักษา ข้อสำคัญที่สุดในการตอบแทนคุณบิดามารดา คือ การชักนำพาท่านเข้าสู่ทางธรรม ซึ่งเป็นการตอบแทนบุญคุณอันสูงสุด
เลี้ยงดูบุตร
บุตร คือ ผู้ที่จะยังความสุข ความปลื้มปิติ ยาหล่อเลี้ยงใจแก่ผู้เป็นพ่อเป็นแม่ และบุตรยังเป็นผลแห่งความดีของบิดามารดา ที่ได้คอยอบรมบ่มนิสัย ยิ่งบุตรมีความประพฤติดีทำดีมากเท่าไร คนทั่วไปก็จะยิ่งชื่นชมสรรเสริญพ่อแม่มากเท่านั้น และด้วยที่เราทุกคนต้องแก่และตายในวันหนึ่ง จึงหวังจะมีสิ่งที่พึ่งทั้งทางกายและใจ โดยประเภทของบุตรแบ่งได้ตามความดีด้วยกัน
- อภิชาตบุตร คือ บุตรที่มีคุณธรรมสูงกว่าบิดามารดา เป็นบุตรชั้นสูง เป็นผู้พาบิดามารดาได้รู้จักธรรม
- อนุชาตบุตร คือ บุตรที่มีคุณธรรมเสมอบิดามาดา เป็นบุตรชั้นกลาง ไม่พอที่จะพาบิดามารดาสู่ธรรมที่สูงกว่า
- อวชาตบุตร คือ บุตรที่เลว ไร้คุณธรรม หรือมีคุณธรรมต่ำกว่าบิดามารดา นำความเสื่อมเสียมาสู่วงศ์ตระกูล
องค์ประกอบให้ได้ลูกดี
- พ่อแม่จะต้องเป็นคนดี หรือทำบุญมาดีจึงจะได้ลูกที่ดี เหมือนต้นไม้พันธุ์ดีก็ย่อมจะมีลูกผลดี
- พ่อแม่จะต้องเลี้ยงดูอบรมลูกดี เพื่อให้ซึมซับความดีตั้งแต่เด็ก และสามารถเติบโตเป็นคนดีในอนาคต โดยการเลี้ยงลูกทั้งทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไป
สงเคราะห์ภรรยา(สามี)
การครองคู่ชีวิตให้ยาวนาน คือ การดูแลซึ่งกันและกันทั้งด้านทางกายและจิตใจ ด้วยสังคหวัตถุ 4 ประการ
- ทาน คือ การปันให้กันและกัน หามาได้ก็ปันกันกิน ปันกันใช้ รวมไปถึง ปันความสุขและทุกข์ร่วมกัน การปลอบใจ การให้คำปรึกษา เพื่อปัดเป่าความทุกข์ให้กับอีกฝ่าย
- ปิยวาจา คือ พูดกันด้วยวาจาไพเราะ ถนอมน้ำใจกัน ไม่ว่าจะเป็นการพูดตักเตือน หรือให้คำปรึกษา ก็ควรเป็นคำพูดที่รักษาน้ำใจ
- อัตถจริยา คือ การทำประโยชน์ต่อกันในทุกด้าน อะไรที่ทำแล้วดี มีประโยชน์กับอีกฝ่าย ก็หมั่นทำต่อกันเสมอ
- สมานัตตตา คือ วางตัวให้เหมาะสมกับฐานะที่ตนเป็น เป็นสามีก็พึงปฏิบัติหน้าที่ของสามีให้ดีครบถ้วน รักและซื่อสัตย์ ให้เกียรติและกล่าวสรรเสริญภรรยา ส่วนภรรยาก็ทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ให้เกียรติ รักและซื่อสัตย์ ดูแลความเป็นอยู่ให้สามี ตามความเหมาะสม
ทำงานไม่คั่งค้าง
การทำงานในที่นี่ หมายถึงหน้าที่ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นกิจการงานส่วนตัว หรือการงานสัมมาอาชีพ เพื่อหาเลี้ยงตน ควรจะต้องใส่ใจและมุ่งมั่นที่จะทำงานหรือหน้าที่ของตนให้สำเร็จเรียบร้อย ก่อนจะไปทำอย่างอื่น เพราะหากปล่อยทิ้งไว้แล้วคิดว่าค่อยกลับมาทำใหม่ โดยมุ่งความสนใจไปทำสิ่งอื่นก่อน เมื่อจะต้องกลับมาทำงานต่อ อาจหมดแรงใจ หรือเกิดความเกียจคร้าน หรือหมดเวลาของงานนั้นๆ อาจสร้างความเสียหายหรือมีผลกระทบตามมาได้

มงคลหมู่ที่ 5 บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม
ประกอบไปด้วยมงคลชีวิตข้อ15 บำเพ็ญทาน มงคลชีวิตข้อ16 ประพฤติธรรม มงคลชีวิตข้อ17 สงเคราะห์ญาติ มงคลชีวิตข้อ18 ทำงานไม่มีโทษ
บำเพ็ญทาน ทาน แปลว่า การให้ หมายถึง การสละสิ่งของของตน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วยความเต็มใจ ซึ่งการให้ทานเป็นพื้นฐานความดีของมนุษย์ เพราะถ้าพ่อแม่ไม่ให้ทาน คือไม่ได้เลี้ยงเรามา เราก็คงตายตั้งแต่เกิดแล้ว สามีภรรยาไม่ให้ทาน ไม่มีการแบ่งปัน ก็คงบ้านแตก หรือ ถ้าครูอาจารย์ไม่ให้ทาน ไม่ถ่ายทอดความรู้แก่เรา เราก็โง่ดักดาน และถ้าคนเราโกรธกันแล้วไม่ให้อภัยทานกัน โลกนี้ก็เป็นกลียุค จึงเห็นได้ว่า พวกเราทุกคนเติบโตมาได้ก็ด้วย การให้ทาน การให้ทานจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้สำหรับสรรพสิ่งในโลกนี้ โดยประเภทของทานมีด้วยกัน 3 ประเภท คือ
- อามิสทาน คือ การให้วัตถุสิ่งของ
- ธรรมทานหรือวิทยาทาน คือ การให้ความรู้เป็นทาน ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ทางโลก เช่น ศิลปะวิทยาการต่างๆ หรือ วิชาชีพ ซึ่งเป็นวิทยาทาน และการให้ความรู้ทางธรรมเป็นทาน เช่น สอนให้ละชั่ว สอนให้ทำความดี สอนให้ทำใจผ่องใส เป็นต้น
- อภัยทาน คือ การสละอารมณ์โกรธเป็นทาน ให้อภัย ไม่จองเวร ไม่พยาบาท
ประพฤติธรรม การประพฤติธรรมจะช่วยนำความสงบสุขมาให้แก่ทุกคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม อย่างน้อยการยึดถือรักษาศีล 5 และปฏิบัติตามหลักกุศลกรรมบถ 10 ประการ เพื่อการละเว้นคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว การลักขโมยก็จะไม่มี การคดโกงก็จะไม่มี เพราะทุกคนมีจริยธรรม และไม่ต้องการเบียดเบียนซึ่งกันและกันนั่นเอง
สงเคราะห์ญาติ การช่วยเหลือญาติที่สามารถพึงทำได้ นับว่าเป็นการสงเคราะห์ญาติที่สมควรทำ เพระเราทุกคนเกิดมาย่อมจะต้องมีญาติพี่น้อง วงศาคณาญาติ แต่การช่วยเหลือญาตินั้นจะต้องเป็นไปอย่างสมควรและเหมาะสม เมื่อญาติเดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ ก็ต้องเป็นผู้ที่พยายามช่วยเหลือตนเองก่อน หรือรู้จักทำตัวให้น่าช่วย และจะต้องไม่เป็นการช่วยเหลือในทางที่ผิด เช่น ให้เงินไปซื้อสิ่งอบายมุข ให้อาวุธไปทำร้ายผู้อื่น ช่วยพาหลบหนีกฏหมายเมื่อทำผิด เป็นต้น
ทำงานไม่มีโทษ งานไม่มีโทษ คือ งานที่ไม่มีภัย งานที่ไม่เบียดเบียนชีวิตผู้อื่น แต่เป็นงานที่มีประโยชน์ต่อตนและผู้อื่น เป็นงานที่ไม่ผิดกฏหมาย ไม่ผิดประเพณี ไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม ไม่ค้าอาวุธ ไม่ค้ามนุษย์ ไม่ค้ายาพิษ ไม่ค้ายาเสพย์ติด ไม่ค้าสัตว์เพื่อนำไปฆ่า การละเว้นจากการงานเหล่านี้ ถือว่าเป็นการทำงานไม่มีโทษ