แอมโมเนีย คือ สารเคมีชนิดหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วยธาตุไนโตรเจน อะตอม และ ไฮโดรเจน แอมโมเนียคุณสมบัติมีฤทธิ์กัดกร่อน ไม่มีสี แต่กลิ่นฉุนรุนแรง หากสูดดมกลิ่นแอมโมเนียที่มีความเข้มข้นมากกว่า 5 ppm จะส่งผลต่อสุขภาพ ทำให้แสบจมูก น้ำตาไหล ระคายเคืองโพรงจมูกและคันคอ และหากได้รับปริมาณแอมโมเนียจำนวนมาก อาจทำให้เสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ดังนั้น สารแอมโมเนีย เป็นสารเคมีพิษและอันตราย จึงมีข้อกำหนดให้ใช้แอมโมเนียภายใต้ความระมัดระวังอย่างสูง
ประโยชน์ของแอมโมเนียใช้ทำอะไรได้บ้าง

ด้านการเกษตร
- แอมโมเนียประมาณ 80% จะถูกใช้ในการผลิตปุ๋ย (Fertilizer) โดยเฉพาะปุ๋ยแอมโมเนียไนเตรต (Ammonium nitrate) และปุ๋ยยูเรีย (Urea)

ด้านอุตสาหกรรม
- ใช้แอมโมเนียทำเป็นสารให้ความเย็น เช่น โรงงานทำน้ำแข็ง อุตสาหกรรมห้องเย็นและห้องแช่แข็ง
- ใช้เป็นวัตถุดิบทำเส้นใยไนลอน
- ใช้แอมโมเนียเป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมกรผลิตกรดไนตริก
- ใช้ในอุตสาหกรรมชุบแข็งและเคลือบผิวโลหะ เพื่อทำชิ้นส่วนเครื่องจักรกลต่าง ๆ
- ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำยางเข้มข้น (concentrate latex) ใช้แอมโมเสียป้องกันการแข็งตัวของน้ำยาง และยับยั้งการเจริญเติบโตแบคทีเรียบางชนิด
- ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้า เส้นใยสังเคราะห์
- ใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างวัตถุระเบิด (Explosive) เช่น TNT , Ammonium nitrate หรือ Nitro Cellulose Nitroglycerin
- ใช้เป็นสารประกอบในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่าง ๆ เช่น น้ำยาเช็ดกระจก น้ำยาเคลือบเงา

โทษของพิษแอมโมเนีย
สารแอมโมเนียอันตรายต่อมนุษย์ : เมื่อสูดดมเข้าสู่ร่างกาย แอมโมเนียมีฤทธิ์กัดกร่อน จะทำให้เกิดการระคายเคืองแสบโพรงจมูก คันคอ ไอ เวียนศีรษะ ตาลาย แน่นหน้าอก แสบตา น้ำตาไหล หากสัมผัสโดนผิวหนัง จะทำให้รู้สึกระคายเคือง คัน หรือเป็นแผลไหม้ พุพอง และอาจเกิดแผลเป็นที่รักษาไม่หาย หากได้รับแอมโมเนียในปริมาณมากหรือเป็นเวลานาน อาจทำให้อาการแย่ลงเรื่อย ๆ และเสียชีวิตในที่สุด
สารแอมโมเนียอันตรายต่อสัตว์และสัตว์น้ำ : เกิดจากการย่อยสลายอินทรีย์จากเศษอาหาร ปุ๋ย และไนโตรเจน จนกลายเป็นแอมโมเนียอิสระ (NH3) และ แอมโมเนียไอออน (NH4+) ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตแอมโมเนียในแหล่งน้ำ เรียกว่า Ammonification ซึ่งเป็นแอมโมเนียอิสระ มีพิษและเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ เมื่อสัตวฺน้ำสัมผัสกับแอมโมเนียอิสระเพียงแค่ 1-2 มิลลิกรัม จะเสียชีวิตภายใน 1 ชั่วโมง จากแอมโมเนียจะไปทำให้ค่าความเป็นกรด – ด่างในเลือดของสัตว์น้ำนั้นสูงขึ้น ทำให้ระบบการทำงานภายในผิดปกติ การลำเลียงออกซิเจนไม่ทำงาน และเสียชีวิตในที่สุด
สารแอมโมเนียอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม : หากสารแอมโมเนียลงสู่แหล่งน้ำ จะส่งผลต่อความเป็นกรด – ด่าง ทำให้ค่า pH ของน้ำสูงขึ้น ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำลดลง กระทบต่อระบบห่วงโซ่อาหารให้ผิดเพี้ยนไปจากปกติ แต่ถ้าอากาศมีการปนเปื้อนสารแอมโมเนีย จะไปทำให้สารประกอบในกลุ่มไนโตรเจน NOx และละอองแอมโมเนียมีฤทธิ์กัดกร่อนโลหะได้

แม้ว่าจะมีสารแอมโมเนียอยู่รอบกิจวัตรประจำวันของเรา แต่แอมโมเนียก็ถือว่าเป็นสารเคมีที่มีอันตรายต่อทุกชีวิตเป็นอย่างมากหากใช้อย่างไม่ระมัดระวัง เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากแอมโมเนีย จึงควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแอมโมเนียอย่างระมัดระวัง ควรสวมถุงมือ หน้ากากอนามัย และแว่นตา เมื่อจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแอมโมเนียเป็นสารประกอบ หรือเมื่อต้องทำงานในพื้นที่มีก๊าซแอมโมเนียเป็นจำนวนมาก และควรเก็บผลิตภัณฑ์ให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และห้ามใช้แอมโมเนียร่วมกับสารฟอกขาวเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีรุนแรงและส่งผลอันตรายแก่ชีวิต และสำหรับผู้ที่ต้องทำงานในสถานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีและแอมโมเนีย ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันอยู่เสมอ และหมั่นไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ