กระแสแหนแดงมาแรงแซงทางโค้ง เนื่องจากปุ๋ยราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกษตรกรมีภาระหนักเกินกำลัง จึงต้องมีการมองหาตัวช่วยที่จะใช้ทดแทนปุ๋ย เพื่อลดค่าใช้จ่ายในส่วนของต้นทุนการผลิต ทำให้ แหนแดง เข้ามามีบทบาทสำคัญกับเกษตรกรและการเกษตรอย่างมีนัยยะ

แหนแดงคืออะไร
แหนแดง (Azolla spp.) เป็นพืชชนิดเฟิร์นน้ำขนาดเล็ก พบได้ในบริเวณน้ำนิ่งทั่วไป ในใบของแหนแดงมี Cyanobacteria หรือ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน อาศัยอยู่ จึงช่วยสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ ทำให้แหนแดงมีธาตุไนโตรเจนสูง เติบโตง่าย ปลอ่ยไนโตรเจนและธาตุอาหารพืชอื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และสลายตัวได้ง่าย เหมาะต่อการนำมาใช้เป็นปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยชีวภาพ และ อาหารสัตว์ ทำให้มีการนำแหนแดงแห้งมาใช้เป็นแหล่งธาตุอาหารให้กับผัก โดยเฉพาะธาตุไนโตรเจน ที่ช่วยบำรุงพืชผักในส่วนของใบและลำต้นได้เป็นอย่างดี
ชาวนานิยมนำแหนแดงใช้ร่วมกับการปลูกข้าวเพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ใช้เป็นปุ๋ยพืชสด และช่วยลดการเจริญเติบโตของวัชพืชในนาข้าว ซึ่งที่ผ่านมาจะมีการใช้ประโยชน์แหนแดงในนาข้าวเท่านั้น แต่เมื่อปุ๋ยมีราคาแพงมากขึ้น และมีกระแสส่งเสริมเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ด้วยคุณสมบัติของแหนแดงที่สามารถใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กรมวิชาการเกษตรได้นำประโยชน์ของแหนแดงมาใช้กับพืชอื่น ๆ จนกลายเป็นปุ๋ยพืชสดที่มีศักยภาพสูงและมีบทบาทสำคัญต่อระบบเกษตรพอเพียง เนื่องจากเป็นพืชที่ช่วยตอบโจทย์ด้านการเกษตรครบวงจร

แหนแดงมีประโยชน์ด้านการเกษตรอย่างไร
- ใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี ทำให้ลดการใช้เคมี ช่วยลดต้นทุน
- เพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน
- ใช้ควบคุมวัชพืชในนาข้าว ลดการใช้เคมีกำจัดวัชพืช
- ใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์สำหรับพืชผักและผลไม้อื่น ๆ ได้
- ใช้แหนแดงร่วมกับปุ๋ยเคมี ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพปุ๋ยเคมี ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 10 -15%
- ใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น ไก่ เป็ด ปลา และ สุกร
- ต้นทุนการผลิตต่ำ
เนื่องจากแหนแดงเป็นพืชธรรมชาติ เลี้ยงและขยายพันธุ์ง่าย เติบโตไว ทำให้เกษตรกรสามารถผลิตไว้ใช้เองได้ ใช้ต้นทุนการผลิตต่ำมาก โดยเอกสารทางกรมวิชาการเกษตรได้ระบุไว้ว่า เมื่อหว่านแหนแดงในนา 1 ไร่ จะได้ผลผลิตแหนแดงประมาณ 3,000 กิโลกรัม หรือประมาณ 3 ตัน ซี่งเทียบได้กับปุ๋ยยูเรียประมาณ 7 -10 กิโลกรัม เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของข้าวในนา และแหนแดงแห้ง 1 กิโลกรัม สามารถใช้ในการปลูกผักได้ประมาณ 2 ตารางเมตร ซึ่งให้ธาตุอาหารเท่ากับปุ๋ยยูเรียประมาณ 100 กรัม

พันธุ์แหนแดงที่เหมาะกับการใช้ในด้านเกษตรของไทย
กรมวิชาการเกษตรได้มีการปรับปรุงพันธุ์แหนแดงสายพันธ์ุอะซอลล่า โมโครฟินล่า ที่ให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์พื้นเมืองถึง 10 เท่า และสามารถขยายพันธุ์ได้ภายในระยะเวลา 30 วัน โดยให้ผลผลิตแหนแดงสดไร่ละ 3 ตัน สามารถตรึงไนโตรเจนได้ถึง 5 – 10 กิโลกรัม / ไร่ และจะปล่อยธาตุอาหารออกมาให้พืชได้อย่างรวดเร็วเมื่อแหนแดงย่อยสลาย
ด้วยคุณสมบัติของแหนแดงและประโยชน์ทางด้านการเกษตรอินทรีย์ ทำให้เห็นได้ว่า แหนแดง เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้เป็นอย่างดี ทำให้ช่วยแบ่งเบาภาระ ลดค่าใช้จ่ายจากปุ๋ยราคาแพง ลดต้นทุนการผลิต ได้พืชผักปลอดสารเคมี ส่งผลดีต่อสุขภาพผู้บริโภค และดีต่อสิ่งแวดล้อม