อาการเจ็บคอ เกิดจากเนื้อเยื่อในลำคอมีการอักเสบ เช่น มีการอักเสบที่ต่อมทอนซิล ผนังช่องคอ เพดานอ่อน โคนลิ้น หรือ กล่องเสียง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอ ระคายเคืองลำคอ ซึ่งในผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการเจ็บคอที่แตกต่างกันไป เช่น
- ระคายเคือง เจ็บ แสบในลำคอ และจะเป็นมากเมื่อกลืนน้ำลาย กลืนน้ำและอาหาร หรือเมื่อพูดคุย
- เยื่อบุลำคออักเสบ สังเกตได้จากเยื่อบุลำคอบวม แดง อาจมีตุ่มแดง มีจุดหนองสีขาว หรือ มีฝ้าในช่องปาก
- ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโตขึ้น กดแล้วเจ็บ
- คอแห้ง เสียงแหบ เสียงเปลี่ยน มีอาการปวดร้าวที่หู
- อาการอื่น ๆ ร่วม เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูกไหล ตาแดง เป็นต้น

สาเหตุของอาการเจ็บคอ
สาเหตุที่ทำให้เจ็บคอมีหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ติดเชื้อแบคทีเรีย ติดเชื้อไวรัส เป็นโรคภูมิแพ้ โรคกรดไหลย้อน การใช้เสียงมากเกินไป การตะโกน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการได้สัมผัสสิ่งกระตุ้นการระคายเคือง เช่น ฝุ่น ควัน สารเคมี รวมไปถึงผลข้างเคียงจากยาชนิด
วิธีรักษาอาการเจ็บคอ
สำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บคอแต่ไม่ต้องการใช้ยาแก้อักเสบ สามารถทำได้โดยการใช้ยาร่วมกับปรับพฤติกรรมหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดการระคายเคือง และทำให้มีอาการเจ็บคอตามมา

- รับประทานอาหารอ่อน ๆ รสไม่จัด
- ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ลำคอ บรรเทาอาการระคายเคืองคอ
- กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ ทำความสะอาดลำคอ ช่วยกำจัดเชื้อโรคในช่องปาก บรรเทาอาการระคายเคือง
- งดอาหารผัดน้ำมัน อาหารทอด เพื่อลดการระคายเคืองคอ
- งดอาหารและเครื่องดื่มเย็น เช่น อาหารแช่เย็น ไอศกรีม น้ำแข็ง น้ำเย็น เพื่อลดการระคายเคือง
- งดการสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์
- งดการใช้เสียงมากเกินไป งดการตะเบ็งเสียง หรือ ตะโกน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- อยู่ในสถานที่อากาศถ่ายเท หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด
- หลีกเลี่ยงสถานที่อากาศหนาวเย็น หรือ สัมผัสอากาศเย็นมาก เช่น นอนเปิดแอร์ เปิดพัดลมเป่า
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บคอ
นอกจากนี้ อาจมีการใช้ยาร่วมด้วย โดยยาที่ใช้บรรเทาอาการเจ็บคอมีให้เลือกใช้ตามอาการ และสาเหตุที่ทำให้มีอาการ ดังนี้

- ยาฆ่าเชื้อ ใช้ในกรณีที่มีการติดเชื้อในลำคอ
- ยาช่วยบรรเทาอาการอักเสบในลำคอ ใช้ในกรณี เจ็บคอ คออักเสบมาก
- ยาช่วยบรรเทาอาการระคายเคือง เพิ่มความชุ่มชื้นในลำคอ บรรเทาอาการเจ็บคอ เช่น สเปรย์พ่นคอ ยาอม
- ยาชาเฉพาะที่ ซึ่งมักจะมีผสมในยาอม ช่วยทำให้รู้สึกชา จึงช่วยบรรเทาอาการเจ็บได้ชั่วขณะหนึ่ง

อาการเจ็บคอแบบไหนที่ควรรีบไปพบแพทย์
- เจ็บคอรุนแรง และเป็นเรื้อรังมากกว่า 1 สัปดาห์
- มีอาการปวดหู หูอื้อ
- ปวดตามข้อในร่างกาย
- มีไข้สูง และมีผื่นขึ้น
- มีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก
- กลืนลำบาก ไม่สามารถดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารได้
- ไม่สามารถอ้าปาก หรือขยับปากได้
- มีอาการเจ็บคอบ่อย ๆ เป็น ๆ หาย ๆ
- มีเลือดปนออกมากับน้ำลายหรือเสมหะ
- คลำพบก้อนที่ลำคอ
อาการเจ็บคอสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่เป็นสิ่งกระตุ้น ดังนั้น หากมีอาการเจ็บคอรุนแรง หรือเป็นเรื้อรังนานกว่า 1 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการตรวจและวินิจฉัย เพื่อรักษาได้ตรงตามอาการ และช่วยลดระยะเวลาทรมานจากอาการเจ็บคอ