ต้อนรับวันพระด้วย “การให้” หรือ “การให้ทาน” แต่บทนี้เราจะมากล่าวถึงการให้ทานแบบ “สัปปุริสทาน”
สัปปุริสทาน คือ การให้ทานของคนดี มีปัญญา เป็นผู้มีความฉลาดในการให้ นับว่าเป็นการให้แบบ สัตบุรุษ สัปปุริสทาน 8 จึงหมายถึง การให้ทาน 8 ประการด้วยกัน
สัตบุรุษ คือ ผู้มีสัมมาทิฎฐิ มีความคิดเห็นชอบ ประพฤติอยู่ในศีล ในธรรม น่าเคารพนับถือ
ดังนั้น เมื่อให้ทานแบบสัตบุรุษ จึงเป็นการให้ที่เหมาะสม ให้ด้วยวิธีที่ดี ให้ด้วยของดี ให้แล้วสามารถนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อผู้รับและผู้ให้ได้ การให้ แบบนี้จึงนับว่าเป็นการให้ที่สมบูรณ์ เป็น สัปปุริสทาน
สัปปุริสทาน 8 ประการ ประกอบไปด้วย
- ให้ของสะอาด
- ให้ของประณีต
- ให้ตามกาลเวลา
- ให้ตามสมควร
- ให้ของที่เหมาะสม
- ให้อย่างสม่ำเสมอ
- ให้แล้วจิตผ่องใส
- ให้แล้วใจเป็นสุข
หลักการให้ทานแบบสัปปุริสทาน 8 เป็นการทำทานด้วยการใช้ปัญญาเพื่อพิจารณาถึงของที่ให้ไปแล้วนั้นจะเกิดประโยชน์แก่ผู้รับอย่างไร เพราะการที่เราทำบุญทำทาน เจ้ากรรมนายเวรจะไม่ได้รับผลบุญจากเราโดยตรง แต่จะได้รับผ่านเนื้อนาบุญที่มีศีลบริสุทธิ์ที่ท่านเหล่านั้นถืออยู่
โดยเจ้ากรรมนายเวรจะได้รับบุญที่แปรเปลี่ยนเป็นของทิพย์ไปตามที่เขาเหล่านั้นขาดหรือต้องการ อาจเป็นในรูปของอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ดังนั้นของที่ให้ทานเป็นของดี ของสะอาดมากเท่าไร ก็จะส่งผลต่อการได้รับของเจ้ากรรมนายเวรเช่นกัน

ตัวอย่าง เช่น ถวายอาหารที่สด ปรุงสุกใหม่ เป็นอาหารที่มีประโยชน์ มีโภชนาการดีต่อร่างกาย เป็นการให้ที่เกิดประโยชน์ แต่ตรงกันข้าม หากถวายอาหารเก่า ปรุงนานเก่าเก็บ เป็นอาหารคาวหวานที่อันตรายต่อสุขภาพ พระสงฆ์ฉันแล้วเกิดอาพาธ หรือเกิดความไม่สบายกาย กลายเป็นว่าแทนที่จะเป็นการให้ทาน กลับเป็นการให้โทษ สร้างบาปใหม่ให้เกิดขึ้นแก่พระสงฆ์ รวมไปถึงเจ้ากรรมนายเวรโดยไม่รู้ตัว
อัฐบริขาร 8 สำหรับพระสงฆ์

กรณีที่เป็นการให้ทานหรือถวายด้วยข้าวของเครื่องใช้ ควรถวายด้วยไทยธรรม หรืออัฐบริขาร 8 คือ ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับภิกษุสงฆ์ อันประกอบไปด้วย
- ผ้าจีวร
- ผ้าสังฆาฏิ
- ผ้าสบง
- ประคดเอว
- มีดโกน
- บรตร
- เข็มเย็บผ้า
- ธมกรก (เครื่องกรองน้ำ)
หรืออาจเป็นอัฐบริขารสำหรับพระบวชใหม่หรือผู้ที่ต้องการอุปสมบท ในปัจจุบันนี้ประกอบด้วย
- ไตรครอง 1 ชุด (สบง จีวร สังฆาฏิ)
- ไตรอาศัย 1 ชุด (จีวร สบง อังสะ ผ้าอาบน้ำฝน)
- บาตร 1 ชุด (ตัวบาตร ฝาบาตร ที่ตั้งบาตร ถลกบาตร สายโยง ถุงตะเคียว)
- มีดโกน หินลับมีด เข็มเย็บผ้าพร้อมกล่องเข็มและด้าย
- ตาลปัตร ย่าม ผ้าเช็ดหน้า ร่ม รองเท้า ปิ่นโต จาน ช้อน ส้อม
- เสื่อ หมอน ผ้าห่ม มุ้ง ไฟฉาย สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ขันน้ำ
- อุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ เช่น การต้มน้ำ กระติกน้ำร้อน โคมไฟ เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ที่พระสงฆ์สามารถนำไปใช้ได้จริง ไม่ใช่ถังสังฆทาน หรือถังเหลือง ที่ห่อหุ้มดูเหมือนของเต็มถัง แต่เมื่อแกะออกมาแทบจะไม่มีสิ่งใดเป็นประโยชน์หรือนำไปใช้ได้สำหรับพระเลย อีกทั้งการกองรวมของกินของใช้ไว้ด้วยกัน ทำให้ของกิน ไม่ว่าจะเป็นกาแฟ น้ำ ยารักษาโรค มีแต่กลิ่นผงซักฟอกเอย กลิ่นสบู่เอย ทำให้พระฉันไม่ได้จนต้องทิ้งกลายเป็นขยะอาหารเพิ่มมลพิษและไม่มีประโยชน์ แล้วเจ้ากรรมนายเวรจะได้รับผลกุศลจากที่ไหน?
ดังนั้น วิธีการที่จะทำให้เราได้ให้ทานด้วยของที่สะอาด ประณีต และเหมาะสมต่อผู้รับ คือต้องใช้ปัญญาพิจารณา และการไตร่ตรองว่าของนั้นสมควรแก่การถวายพระท่านหรือไม่ หรือท่านจะนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงหรือไม่ หากไม่แน่ใจอาจหาข้อมูลจากผู้รู้ หรือสอบถามพระสงฆ์โดยตรง ว่าของจำเป็นต่อพระภิกษุมีสิ่งใดบ้าง ท่านจะได้ให้คำแนะนำที่ถูกต้อง เช่น แนะนำว่าอัฐบริขารมีอะไรบ้างที่ถวายได้ แต่ไม่ใช่ให้ถามว่าท่านต้องการจะฉันอะไร จะได้ทำอาหารนั้น ๆ หรืออยากได้อะไร จะได้นำของที่พระต้องการมาถวาย อันนี้ก็ไม่เข้าข่ายของการให้แบบสัปปุริสธรรม
กรณีที่ให้ทานด้วยยารักษาโรค สามารถสอบถามได้โดยตรงถึงอาการอาพาธของพระสงฆ์ในที่แห่งนั้น เช่น รู้ว่าท่านปวดกล้ามเนื้อ เคล็ดขัดยอก ก็ถวายด้วยยาคลายกล้ามเนื้อ หรือถวายวิตามินซีเสริมภูมิคุ้มกันแด่ภิกษุในช่วงฤดูฝนเพื่อปกป้องร่างกายท่านไม่ให้ป่วยง่าย ถวายยาแก้ท้องเสียแด่พระอาพาธมีอาการถ่ายท้อง เป็นต้น นับว่าเป็นการให้ทานที่เกิดประโยชน์และเกิดเป็นบุญทันที เพราะช่วยสงเคราะห์ความเจ็บปวดให้กับพระสงฆ์ เจ้ากรรมนายเวรก็ได้รับทันทีเช่นกัน
กรณีที่ต้องการถวายเครื่องนุ่งห่มแก่พระภิกษุ ควรเลือกผ้าไตรจีวรมีคุณภาพดี ผ้าไม่บางเกินไป เพราะพระท่านอาจนุ่งไม่ได้และต้องทิ้งในทิ้งทึ่สุด หรือถวายผ้าห่ม ผ้าอังสะ แก่พระสงฆ์ในฤดูหนาว เป็นการเพิ่มความอบอุ่นและป้องกันไม่ให้พระท่านอาพาธ เพราะปกติพระสงฆ์จะใช้ผ้าสามผืนในการปกปิดร่างกายเท่านั้น หรือแม้แต่การถวายผ้าอาบน้ำฝนในฤดูฝน เช่นนี้ถือว่าเป็นการให้ตามกาล เป็นการให้แบบสัปปุริสทานเช่นกัน

เมื่อให้แล้วใจเป็นสุข ผ่องใส อิ่มเอิบ มีความสุขที่ได้ให้ของอันพึงเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ ให้แล้วไม่เสียดาย ไม่รู้สึกหนักใจหรือเป็นทุกข์ หากให้ไปแล้วรู้สึกตรงกันข้ามดังนี้ การให้นั้นก็ไม่นับว่าเป็น สัปปุริสทาน ดังนั้นเพื่อการให้แบบสัตบุรุษเป็นไปครบถ้วนและสมบูรณ์แห่ง สัปปุริสทาน ทุกประการ ควรให้เมื่อมีกำลังที่จะให้ ให้เมื่อพร้อม ให้ตามกำลังสามารถที่มี เพราะไม่ว่าจะให้มากหรือให้น้อย ความสุข ความอิ่มใจ หลังจากการให้นั่นแล คือ “บุญเกิดขึ้นแล้ว”