กำลังมาแรงกับกระแส ภาพยนต์แนวสยองขวัญ เรื่อง ธี่หยด ที่ดัดแปลงมากจากนวนิยาย เป็นเรื่องราวของครอบครัวหนึ่ง โดยเนื้อหาในเรื่องเริ่มจากที่ แย้ม หนึ่งในลูกสาวของคนในครอบครัวนี้ ล้มป่วยด้วยอาการประหลาด และมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสยองขวัญ
ได้มีหมอและผู้เชี่ยวชาญออกมาอธิบายอาการป่วยของแย้ม เข้าลักษณะของผู้ป่วยโรคสมองอักเสบจากภูมิต้านทาน Anti-NMDAR ที่หากรักษาไม่ทัน ผู้ป่วยก็จะตายได้ แถมอาการของผู้ป่วยก็อาจทำให้ถูกเข้าใจผิดว่าโดนผีเข้าได้ เอ๊ะ! แล้วโรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน Anti-NMDAR คืออะไรกันนะ สามารถรักษาให้หายได้ไหม ใครที่สงสัยและอยากรู้คำตอบ ตามมาทางนี้เลยค่ะ

โรคสมองอักเสบภูมิคุ้มกันคืออะไร
โรคสมองอักเสบภูมิคุ้มกัน Anti-NMDAR คือ หนึ่งในชนิดของโรคสมองอักเสบภูมิคุ้มกัน Automimune Encephalitis ที่เนื้อสมองหรือเยื่อหุ้มสมองมีการอักเสบ จากการถูกกระตุ้นด้วยเซลล์เนื้องอกที่มีโปรตีนชนิดตัวรับเอ็นเอ็มดีเอ (NMDAR) อยู่บนเซลล์ ร่างกายจึงสร้าง Antibody เพื่อไปยับยั้ง NMDAR ที่อยู่บริเวณสมอง ส่งผลให้เซลล์สมองถูกทำลายไปด้วย ทำให้เกิดอาการผิดปกติ ไม่สามารถประมวลผลหรือควบคุมตัวเองได้ เหมือนกับผู้ป่วยจิตเวช หรือมีอาการคล้ายโดนผีสิง หากรักษาไม่ทันอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการโรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน Anti-NMDAR
ในระยะแรกของผู้ป่วยโรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน มีอาการคล้ายโรคไข้หวัด รู้สึกอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ มีไข้ต่ำ ๆ
ระยะต่อมาจะมีอาการทางประสาท ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวให้เป็นปกติได้ กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ มีอาการสับสน หูแว่ว ประสาทหลอน อาจมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป หงุดหงิดง่าย กลายเป็นคนก้าวร้าว หรือเซื่องซืมผิดปกติ บางรายอาจมีการแสยะยิ้มบนใบหน้า เหลือกตา เคี้ยวปาก แลบลิ้น มือและเท้าขยับไปมา ทำให้ดูคล้ายกับอาการผีเข้า แบบ แย้ม ธี่หยด
หากรักษาไม่ทัน จนทำให้เข้าสู่ระยะรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยจะซึม ความรู้สึกตัวลดลง ไม่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น ชักเกร็ง สูญเสียการรับรู้เป็นระยะเวลานาน จนเข้าสู่อาการโคม่า และ เสียชีวิตในที่สุด

ปัจจัยการเกิดโรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกันแปรปรวน
สาเหตุจริง ๆ ที่ทำให้เกิด Anti-NMDAR มาจากเนื้องอกที่มักจะพบในบริเวณรังไข่ เต้านม อัณฑะและ ปอด รวมไปถึงการติดเชื้อไวรัส ทำให้ร่างกายผลิตภูมิคุ้มกันผิดปกติออกมา หรือผู้ที่เคยมีประวัติการติดเชื้อสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส ก็อาจส่งผลทำให้ป่วยด้วยโรคนี้ได้เช่นกัน
ใครคือกลุ่มเสี่ยงโรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน
โรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีอายุน้อยกว่า 18 ปี และมักจะเป็นเพศหญิง 80% ส่วนเพศชาย 20%
แนวทางและวิธีรักษาโรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน Anti-NMDAR
โรคสมองอักเสบภูมิคุ้มกัน Anti-NMDAR ไม่สามารถรักษาให้หายเองได้ แต่จะต้องเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ โดยในขั้นตอนแรกจะมีการซักถามประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วยอย่างละเอียด และทำตามลำดับต่อไป ดังนี้
- ตรวจภาพถ่ายรังสี MRI เพื่อหาความผิดปกติบริเวณสมองส่วนหน้า
- ตรวจน้ำไขสันหลัง เพื่อดูการอักเสบของสมองจากภาพถ่ายรังสี MRI
- ตรวจหา Antibody ต่อตัวรับเอ็นเอ็มดีเอ (NMDAR) จากน้ำไขสันหลัง และในเลือด
อีกทั้งยังต้องเข้ารับการวินิจฉัยแยกโรคที่มีอาการใกล้เคียง เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท หรือ โรคสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส
สำหรับผู้ป่วยที่ได้ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคดังกล่าว จะต้องได้รับยาเพื่อช่วยลดการอักเสบของสมอง การเปลี่ยนถ่ายพลาสมา หรือการให้ยาอิมมูโกลบูลินทางหลอดเลือด บางรายอาจต้องเพิ่มการผ่าตัดเนื้องอก ควบคู่ไปกับการบำบัดทางร่างกายและจิตใจ
โรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน Anti-NMDAR รักษาหายไหม
โอกาสในการหายป่วยจากโรคสมองอักเสบจากภาวะแพ้ภูมิต้านทาน Anti-NMDAR มีมากถึง 80% และมีความเป็นไปได้ที่จะหายจนเป็นปกติ หากได้รับการรักษาถูกต้องและรวดเร็ว มีเพียงส่วนน้อย 10 – 20% ของผู้ป่วย ที่จะมีอาการกำเริบเป็นบางครั้ง ซึ่งแพทย์จะให้ยากดภูมิ และคอยติดตามอาการอย่างใกล้ชิด