การนำเข้าขยะรีไซเคิลของรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตคนไทยอย่างไร และจะมีกลุ่มคนมากน้อยแค่ไหนที่ให้ความสนใจในเรื่องนี้อย่างจริงจัง?
การถกปัญหาเรื่องที่รัฐบาลอนุมัติในการนำเข้าขยะพลาสติกมีมานานหลายปี และควรสิ้นสุดเมื่อปี 2563 ตามมติฯ เดิมเมื่อปี 2561 แต่ก็มีการขยาย และขยายอีก จนกระทั่งปี 2565 ที่ควรจะเป็นปีสุดท้ายตามที่รัฐฯ เคยได้กำหนดไว้ แต่มันอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อรัฐบาลกำลังกลับคำ โดยอาจให้โควต้าเพิ่มสำหรับการนำเข้าขยะเศษพลาสติก เพื่อผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของกลุ่มผู้ประกอบการ
เก็บขยะพลาสติก อาชีพเสริมที่เริ่มไม่มีใครอยากทำ
ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน นาย ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ให้ข้อมูลว่า โดยปกติมีคนชุมชนริมทะเล หาดยาว (ต.ลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง) และคนที่อาศัยบนเกาะต่าง ๆ ไปเก็บขยะพลาสติกตามชายหาดและบนเกาะเพื่อนำขยะไปขาย ได้ราคาที่พอยังชีพได้ บางคนถึงขนาดยึดเป็นอาชีพหลัก แต่พอรัฐฯ อนุโลมให้นำขยะเศษพลาสติกเข้าประเทศ ทำให้ราคาเศษพลาสติกในไทยลดลงไปมาก ขวดน้ำพลาสติกเหลือเพียงกิโลละ 2-3 บาท ทำให้ชาวบ้านไม่มีแรงจูงใจในการไปเก็บขยะพลาสติกมาขาย เพราะรู้สึกว่าไม่คุ้มที่จะนั่งเรือออกไปเก็บ จากที่ยึดเป็นอาชีพหรือเป็นรายได้เสริมก็เลิกกันไป ขยะเมื่อไม่มีคนเก็บ ขยะก็เกลื่อนหาด และถูกน้ำซัดพัดพาลงทะเล ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากรัฐบาลไม่มีการจัดการเรื่องขยะที่เป็นกิจลักษณะ และไม่เป็นในรูปแบบที่ถาวร มีแต่จัดกิจกรรมเป็นครั้งคราวเท่านั้น
เมื่อขยะราคาต่ำลง คนเก็บก็น้อยลง ทำให้ปริมาณขยะมากขึ้น เพราะมีแต่คนทิ้งแต่ไม่มีคนเก็บ การนำเข้าขยะพลาสติกของไทยสูงเป็นประวัติการณ์ ในปี 2561 ที่พุ่งขึ้นถึง 500,000 ตัน ด้วยรัฐบาลอ้างว่าต้องนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศจำนวนมาก เพื่อนำมารีไซเคิลเป็นถุงพลาสติกราคาถูก คุณภาพต่ำ เพื่อลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว แต่นั่นจะยิ่งทำให้ขยะในประเทศมากขึ้นแบบทบทวี แต่สุดท้ายจะกลับมาเป็นขยะพลาสติก และจะยิ่งทบทวีขยะให้ล้นประเทศไทยมากกว่าเดิมหลายเท่า!!

ชาวบ้านจังหวัดตรังที่เคยหารายได้เสริม และบางคนที่ยึดเป็นอาชีพ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากที่ชาวบ้านหลายคนเคยเก็บขยะพลาสติกนำไปขาย ได้เงินมาจุนเจือในครอบครัวได้ แต่ตอนนี้ทุกคนเลิกกันหมด เพราะราคาขายมันต่ำลงจนไม่มีคนรับซื้อขยะเลย ทำให้ชาวบ้านไม่รู้จะเก็บขยะไปขายกับใคร ขยะจึงกลับมาล้นเมืองอีกครั้ง ขยะที่ถูกลำเลียงไปยังลานเผา (ชาวบ้านเรียกเตาเผา) มีจำนวนมาก ทำให้ลานเผาอัดแน่นด้วยกองภูเขาขยะ โดยพนักงานเก็บขยะ ต.เกาะลิบง ได้ให้ข้อมูลว่า ขยะทั้งหมดจาก 6 หมู่บ้านด้วยกัน ถูกลำเลียงมาเผาที่นี่ที่เดียว บริเวณนี้จึงเต็มไปด้วยมลพิษ โดยปกติจะต้องทำการแยกขยะก่อนที่จะเผา เพราะอาจมีขยะอันตราย อย่างเช่น ไฟแช็ก กระป๋องแก๊ส ฯลฯ ที่เผาแล้วอาจเกิดการประทุหรือระเบิดได้ ตนรู้สึกได้ว่าสุขภาพแย่ลงมาก เพราะมลพิษจากขยะจำนวนมากที่ตนต้องเผาทุกวัน โดยไม่มีประกันสุขภาพหรือความคุ้มครองใด ๆ จากหน่วยงาน นายปณีต ได้กล่าวอีกว่า “งานเผาขยะที่ตนทำอยู่นั้น เป็นงานที่ต่ำที่สุด แต่ก็เป็นงานที่สำคัญที่สุด”
นอกจากนี้ นาย ภาคภูมิ ได้กล่าวอีกว่า คำมั่นที่รัฐบาลเคยให้ไว้ ว่าจะนำขยะพลาสติกกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลให้ได้ 100% หากเป็นเช่นนี้ เชื่อว่าเป็นไปได้ยาก ยิ่งตอนนี้มีแนวโน้มว่ารัฐบาลกลับลำ ต่อโควต้าในการนำเข้าขยะพลาสติกนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มอีก 5 ปี ทั้งที่การผ่อนปรนนำเข้าขยะที่ให้เวลาถึง 3 ปี จะต้องสิ้นสุดในปี 2565 นี้ แต่ผู้ประกอบการรีไซเคิลขยะได้กดดันรัฐบาลให้ขยายเวลาผ่อนปรนไปอีก แม้ว่ามีหลาย ๆ ฝ่ายพยายามผลักดัน และเรียกร้องให้รัฐบาลคำนึงถึงผลกระทบต่อส่วนรวม และสิ่งแวดล้อมในประเทศให้มากกว่าคนกลุ่มหนึ่ง (ผู้ประกอบการและพนักงานโรงงาน) เพราะให้เวลาผ่อนปรนมาแล้วถึง 3 ปี สำหรับการปรับตัว แต่เวลา 3 ปีที่ผ่านมา คนกลุ่มเหล่านี้ไม่เคยจะพอ ไม่เคยจะปรับตัว โดยนำผลกระทบต่อชีวิตคนงาน (กลุ่มหนึ่ง) ยกมาอ้างในการชี้นำ เพื่อขอขยายต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดเสียที
แน่นอนว่าเมื่อรัฐบาลยอมอนุโลมให้ขยายเวลาในการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ประกอบการ มันก็จะไม่สามารถจัดการเรื่องขยะล้นประเทศ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในไทยได้อย่างยั่งยืน และมันจะเป็นปัญหาระดับชาติ ที่ใหญ่และมากกว่าเพียงแค่ปัญหาผลกระทบต่อคนกลุ่มหนึ่งในเชิงธุรกิจเท่านั้น

เมื่อรัฐไม่ช่วยเหลือ เอกชนจึงต้องพึ่งกันเอง
เมื่อขยะในทะเลเพิ่มขึ้น และไม่มีชาวบ้านคอยเก็บขยะ มูลนิธิอันดามันจึงเพิ่มราคาในการรับซื้อ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับชาวบ้าน โดยให้ราคาสูงกว่าราคาตลาด จากกิโลละ 2-3 บาท แต่เพิ่มให้สูงขึ้นไปอีก เป็นกิโลละ 1-12 บาท ทำให้มีชาวบ้านในชุมชนและบนเกาะกลับมาเก็บขยะริมหาด ขยะบนฝั่ง ขยะในทะเล ขยะตามรีสอร์ท ร้านค้า เพื่อนำขายอีกครั้ง ทำให้มูลนิธิอันดามันมีปริมาณขยะพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติก PET จำนวนมาก โดยขยะที่เป็นขวดแก้ว ขวดเบียร์ ราคาจะอยู่ที่ กิโลละ 1.50 บาท ขวดน้ำ ขวดน้ำอัดลม ที่เป็นขวด PET ราคารับซื้ออยู่ที่กิโลละ 14 บาท ขวดสกรีนกิโลกรัมละ 6-8 บาท ส่วนพลาสติกอื่น ๆ ประมาณกิโลละ 10 บาท ในขณะที่ขยะทั่วไป เช่น เชือกอวน เชือกฟาง กิโลละ 6-8 บาท ส่วนขยะทะเล เช่น รองเท้า โฟม ฯลฯ อยู่ที่กิโลละ 3 บาท ด้วยราคาขนาดนี้ ทำให้ชาวบ้านช่วยกันเก็บขยะ และนำมาคัดแยกเพื่อขายชั่งขายตามประเภท บางคนสามารถขายขยะได้เงินถึง 400-500 บาท / เดือน

โครงการของมูลนิธิอันดามัน ช่วยให้ขยะตามแหล่งสถานที่ต่าง ๆ ใน ต.ลิบง จ.ตรัง ลดลงไปมากอย่างเห็นได้ชัด และทำให้ขยะที่ถูกนำไปเผายังลานเผาลดจำนวนลงเช่นกัน มลพิษจากการเผาขยะลดลง ส่งผลดีต่อสุขภาพคนในชุมชน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ส่วนขยะที่รับซื้อก็จะนำไปแยกรีไซเคิลแต่ละประเภท เช่น การนำขยะพลาสติกไปแปรรูปเป็นน้ำมัน เป็นต้น ชาวบ้าน ต.ลิบง ยังได้เสริมอีกว่า โครงการของมูลนิธิอันดามัน ทำให้ชาวบ้านชุมชนลิบงและคนบนเกาะในบริเวณกลับมาตื่นตัวเรื่องการเก็บขยะอีกครั้ง และยังทำให้หลายคนได้มีรายได้จากการทำขยะให้กลายเป็นเงิน ยิ่งไปกว่านั้นคือ ชายหาดสะอาดขึ้น ทะเลไร้ขยะ สัตว์ทะเลก็ปลอดภัยจากการกลืนกินพลาสติก เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง
สรุป
จากข้อมูลที่เราได้หยิบยกมานี้ชี้ให้เห็นว่าอย่างไรบ้าง ผลกระทบจากการนำเข้าขยะรีไซเคิลจากต่างประเทศ ทั้งที่ในประเทศเราเองก็มีขยะมากพอที่จะนำมารีไซเคิล เพียงแต่ขาดระบบการจัดการที่ดี และไม่ได้มีใครเข้ามาดูแลหรือควบคุมอย่างจริงจัง รวมไปถึงความร่วมมือของประชาชนทุกคน การคัดแยกขยะจากต้นทาง บ้านเรือน ชุมชม การส่งเสริมและแรงกระตุ้นให้กับคนในชุมชนจนขยายสู่วงกว้าง หากทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือในการจัดการอย่างจริงจัง ก็จะช่วยแก้ปัญหาด้านการลดปริมาณขยะ การแยกขยะรีไซเคิลแต่ละประเภท จะช่วยนำไปแปรรูปและนำกลับมาใช้ได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การแปรรูปน้ำมัน Pyrolysis (ไพโรไลซิส) การแปรรูปถุงพลาสติกคุณภาพต่ำ เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ อย่างที่รัฐบาลเคยกล่าวอ้างในการนำมาใช้ เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งที่จริงเราสามารถจัดการมันได้ เพราะในขณะที่หลาย ๆ ประเทศแบนการนำเข้าขยะ แต่ไทยเรากลับนำเข้าขยะเป็นแสนเป็นล้านตัน!!
เห็นทีรัฐบาลจะต้องคิดใหม่ทำใหม่อย่างจริงจัง ก่อนที่ประเทศไทยจะกลายเป็น ถังขยะโลก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Backpack Journalist