หากใครที่ยังยึดอยู่กับการปลูกพืชตามหลักเศรษฐกิจเพื่อมุ่งทำเงินอย่างเดียวแบบแต่ก่อน บอกเลยว่าเอาท์มาก ๆ
เพราะสมัยนี้จะต้องเป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจแบบพอเพียง คือ การปลูกพืชใสครัวเรือน หรือพืชสวนชุมชน ช่วยตอบโจทย์วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทางสวพ.8 จึงมีโครงการ Model 9 พืชผสมผสานเพื่อความพอเพียง เพื่อรณรงค์ให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ซึ่งกลุ่มพืชเพื่อเศรษฐกิจพอเพียงมีอะไรบ้าง เราได้รวบรวมมาให้แล้ว ดังนี้
1. กลุ่มพืชอาหาร
พืชที่ปลูกเพื่อความมั่นคงทางอาหาร เป็นการปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารกินเองในครัวเรือน มีความปลอดภัย และช่วยลดค่าใช้จ่าย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพืชที่ใช้เป็นอาหารประจำวัน หรือนิยมปรุงในเมนูอาหารต่าง ๆ ปลูกพืชทุกชนิดที่กิน อยากกินอะไรก็ปลูกสิ่งนั้น โดยทำแบบง่าย ๆ ไม่ได้ปลูกจำนวนมากเพื่อค้าขาย

2. กลุ่มพืชรายได้
ปลูกพืชเพื่อนำไปขาย เป็นแหล่งรายได้ของครอบครัว มีการปลูกและพัฒนา วิธีการปลูก การผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิต อาจมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพ และสร้างมูลค่าให้กับผลผลิต
3. กลุ่มพืชสมุนไพรสุขภาพ
ปลูกพืชสมุนไพรที่เป็นยาตำรับไทยเพื่อใช้ในการรักษาโรค หรือพืชที่มีคุณสมบัติดูแลเรื่องสุขภาพ และใช้ประโยชน์บรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาเคมีที่อาจมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพในอนาคต
4. กลุ่มพืชสมุนไพรป้องกันและกำจัดศัตรูพืช
กลุ่มพืชสำหรับใช้ผลิตสารสกัด เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชและวัชพืชแทนการใช้สารเคมี เช่น ข่า ตะไคร้ สะเดา หัวหอม รวมไปถึงการผลิตน้ำส้มควันไม้

5. กลุ่มพืชใช้สอย
กลุ่มพืชที่ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ จากเนื้อไม้ เช่น กระถินเทพา ตะเคียนทอง ยางนา มะฮอกกานี เป็นต้น ซึ่งสามารถปลูกเป็นแปลงหรือบนคันนาได้
6. กลุ่มพืชอาหารสัตว์
กลุ่มพืชที่ปลูกเพื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ เป็นพืชที่มีสารอาหารที่ร่างกายของสัตว์ต้องการ ช่วยให้สัตว์เจริญเติบโต ลดต้นทุน ทำให้มีอาหารเพียงพอต่อการเลี้ยงสัตว์ เช่น แหนแดง หญ้ามัน หญ้าแพงโกล่า หญ้าก้านแดง หญ้าหวายข้อ เนเปียร์ปากช่อง เป็นต้น
7. กลุ่มพืชอนุรักษ์ดินและน้ำ
ปลูกพืชเพื่อปรับปรุงและบำรุงดิน รักษาความชุ่มชื้นให้กับดิน ป้องกันการชะล้างดิน และเป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้กับดิน เช่น พืชตระกูลถั่ว ปอเทือง แฝก เป็นต้น

8. กลุ่มพืชอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่น
เป็นการปลูกพืชเพื่อขยายพันธุ์พืชประจำท้องถิ่น พืชที่ให้คุณค่าทางวัฒนธรรมและสังคม และพืชที่กำลังจะสูญหาย เพื่อเป็นการรักษาและดำรงพันธุ์พืชที่มีค่าให้คงอยู่ และยังเป็นการรณรงค์ให้ชุมชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของพืชเหล่านั้นอีกด้วย
9. กลุ่มพืชที่ใช้เป็นพลังงานหรือเชื้อเพลิง
ปลูกพืชกลุ่มที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านเชื้อเพลิง หรือใช้ในการทดแทนพลังงาน เช่น ปาล์ม แคนา สน มะฮอกกานี ซึ่งมีทั้งในรูปแบบการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกแบบผสมผสาน โดยปลูกแบบสวนพืชทั่วไปหรือปลูกบนคันนาก็ได้เช่นกัน