สำหรับใครที่กำลังเริ่มวางแผนปลดตัวเองออกจากงานประจำอยู่ หรือเข้าวัยที่ใกล้จะเกษียณ แต่ยังมองภาพไม่ออกว่าจะบริหารการเงินอย่างไรให้มีเงินใช้หลังจากเกษียณโดยไม่ลำบาก และยังมีเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ลองทำตาม การบริหารเงินให้มีเงินใช้เมื่อต้องเกษียณอายุงาน แบบฉบับนักวางแผนการเงิน ที่เราได้นำมาฝากในบทความนี้กันดีกว่า รับรองว่า ทำได้ตามนี้มีเงินไว้ใช้ยามเกษียณแน่นอน

1. แยกประเภท “รายจ่าย” ก่อนจะต่อยอดเงิน
ในการดำเนินชีวิตประจำวันของทุกคน ย่อมมี รายจ่าย เป็นอุปสรรคใหญ่ของการเก็บออมเงิน มีทั้งแบบที่รายจ่ายมากกว่ารายรับ ทำให้มีเงินไม่พอเก็บ หรือมัวแต่จ่ายจนลืมเก็บ เพราะไม่มีการจัดการบริหารการเงินใด ๆ แต่ถ้าต้องมีสภาพคล่องทางการเงินในชีวิตหลังเกษียณ การทำความเข้าใจในรายจ่ายแต่ละประเภท จัดเรียงความสำคัญ เพื่อที่จะได้วางแผนการเงินจึงมีความสำคัญ โดยประเภทรายจ่ายในการดำเนินชีวิต มีดังนี้
- หนี้สิน รายจ่ายสำคัญข้อแรกที่ต้องให้ความสำคัญ และไม่ควรลืมที่จะหาทางการชำระหนี้ให้ถูกต้อง เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ เป็นต้น
- รายจ่ายทั่วไป คือ รายจ่ายที่เราหลีกเลี่ยงได้ยาก เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และค่าดูแลส่วนอื่น ๆ ภายในบ้าน
- รายจ่ายการดูแลสุขภาพ ปัญหาสุขภาพ ถือว่าสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยที่เราไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ การวางแผนการเงินในส่วนนี้ จะช่วยให้สะดวกและลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลลงได้ เช่น การทำประกันสุขภาพ ประกันชีวิต เป็นต้น
- รายจ่ายอื่น ๆ มักจะเป็นการจ่ายเพื่อเติมเต็มความสุขให้กับชีวิต ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในด้านการเข้าสังคม การซ่อมแซมบำรุงหรือตกแต่งที่อยู่อาศัย หรือค่าใช้จ่ายระหว่างการท่องเที่ยว
ต้องเก็บเงินเท่าไรจึงจะมีเงินใช้หลังเกษียณ
การคำนวณค่าใช้จ่ายคร่าว ๆ ในการเก็บเงินใช้หลังเกษียณ สามารถคำนวณได้ดังนี้
ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ = รายจ่าย / ปี x 80% x จำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ

2. มองหาแหล่ง “รายได้” ประจำ
หลังจากที่คำนวณรายจ่ายคร่าว ๆ ที่จะต้องมีไว้ใช้หลังเกษียณกันไปแล้ว จากนั้นเราก็มาคำนึงรายได้ในช่องทางต่าง ๆ เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายหลังเกษียณได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- รายได้ประจำ คือ รายได้ที่ได้รับสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นรายวัน รายเดือน หรือ รายปี เช่น เงินบำนาญ เงินจากการปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์ (เช่น เช่าบ้าน เช่าคอนโด ฯลฯ) รายได้จากอาชีพเสริม รวมไปถึงรายได้จากการลงทุน (เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก เงินปันผล ฯลฯ) โดยสามารถนำเงินจากรายได้ส่วนนี้มาใช้จ่ายหมุนเวียนหลังเกษียณ และหากมีเงินเหลือจากการใช้จ่ายก็ให้เก็บเข้าธนาคาร หรือนำไปใช้ในการลงทุนเพื่อต่อยอดเงิน
- รายได้ไม่ประจำ หรือ รายได้ครั้งคราว ส่วนใหญ่จะเป็นในรูปแบบเงินก้อนที่ไม่ได้ต่อเนื่องเป็นประจำ เช่น เงินบำเหน็จ เงินปันผลจากกองทุนรวม เช่น RMF , SSF หรือ LTF เป็นต้น ซึ่งควรเก็บเงินก้อนส่วนนี้เป็นเงินสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน หรืออาจแบ่งส่วนหนึ่งไปใช้ในการลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงไหว เพื่อช่วยเสริมในส่วนของรายได้ประจำ

3. วางแผนจัดการรายจ่ายทั้งหมด
การบริหารการเงินง่าย ๆ คือ การทำบันทึกรายราย – รายจ่าย อยู่เสมอ เพื่อให้มองเห็นถึงยอดเงินที่เป็นรายรับ และ รายจ่าย ในแต่ละเดือนได้อย่างชัดเจน ทำให้เห็นว่ารายจ่ายเงินส่วนไหนที่ไม่จำเป็น หรือเป็นรายจ่ายที่สิ้นเปลือง ก็จะได้ตัดออกไป แล้วนำเงินส่วนนั้นมาใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็น หรือนำเข้าเป็นส่วนของเงินเก็บแทน

4. บริหารเงินสำรองอย่างมีประสิทธิภาพ
หากต้องการมีสภาพคล่องทางการเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ หรือแม้แต่มีเงินสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน การมีทักษะการออมเงินเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ เพราะจะสามารถบริหารจัดการรายได้ รายจ่าย และการเก็บเงินสำรองฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่ขัดสนการเงินในชีวิตเกษียณ และเมื่อจำเป็นต้องใช้เงินอย่างกระทันก็มีเงินสำรองใช้อย่างสบาย ๆ

5. แบ่งลงทุนอย่างเข้าใจ
เมื่อรู้หลักการพิจารณารายรับ รายจ่าย และเงินสำรอง การแบ่งเงินลงทุนเพื่อต่อยอดเงินก็เป็นอีกสิ่งจำเป็นที่ควรพิจารณาด้วยเช่นกัน แต่จะต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนทำการลงทุนทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนระยะสั้น ระยะกลาง หรือการลงทุนระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด หรือผิดพลาดน้อยที่สุด และควรเลือกประเภทการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเรา รวมไปถึงการวางแผนและบริหารให้รัดกุมมากที่สุด เพื่อจะได้ไม่เบียดเบียนในส่วนของเงินสำรองที่เก็บออมไว้
อย่างไรก็ตาม การบริหารการเงินเพื่อเตรียมตัวเกษียณยังมีอีกหลายปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณาร่วมกัน ทั้งในเรื่องของรูปแบบการใช้ชีวิต อาชีพ รายได้ ภาษี และอื่น ๆ ที่นอกเหนือจาก 5 เคล็ดลับที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ดังนั้น การวางแผนการเงินให้รอบคอบมากที่สุดจะช่วยให้ชีวิตมีเกษียณเป็นไปตามที่ต้องการ