สำหรับผู้ที่มีความประสงค์ หรือสนใจจะบริจาคเลือด แต่อาจไม่เคยบริจาคมาก่อน ยังไม่รู้ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างในการไปบริจาคเลือด แอดมินจึงได้รวบรวมขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนบริจาคเลือด ขณะบริจาคต้องทำยังไง และหลังจากบริจาคเลือด ข้อห้ามมีอะไรบ้าง ไว้ในบทความนี้แล้ว เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมทั้งด้านกายและใจ บริจาคเลือดได้อย่างปลอดภัย ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพหลังบริจาคเลือดกันค่ะ

ก่อนบริจาคเลือด ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6 ชั่วโมง
- ร่างกายแข็งแรง สุขภาพสมบูรณ์ หากอยู่ในระหว่างรับประทานยารักษาโรค ให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลผู้ตรวจคัดกรองสุขภาพก่อนทุกครั้ง
- ดื่มประมาณ 3 – 4 แก้ว ก่อนบริจาคโลหิต ประมาณ 30 นาที เพื่อทดแทนการเสียเลือดที่บริจาค ช่วยระบบการไหลเวียนของเลือด และลดความเสี่ยงต่อการเป็นลม หน้ามืด วูบ จากการบริจาคเลือด
- หลีกเลี่ยงการทานอาหารไขมันสูง ก่อนมาบริจาคเลือด 6 ชั่วโมง เช่น ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู แกงกะทิ ขนมหวานต่าง ๆ เพราะจะทำให้พลาสมาขุ่น ขาว ไม่สามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยได้
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด ก่อนบริจาคเลือดอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
- งดสูบบุหรี่ก่อนและหลังบริจาคเลือด 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดมีประสิทธิภาพในการฟอกเลือดได้ดี

ขณะบริจาคเลือด ควรทำอย่างไร
- ไม่ควรเคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอมขณะบริจาคโลหิต
- สวมใส่เสื้อผ้าที่แขนสามารถดึงขึ้นเหนือศอกได้อย่างน้อย 3 นิ้ว
- ใช้แขนข้างที่สามารถเห็นเส้นเลือดดำได้ชัดเจน โดยบริเวณผิวหนังที่จะเจาะต้องไม่มีผื่นคัน หรือรอยเขียวช้ำ
- หากแพ้ยาฆ่าเชื้อ เช่น แพ้แอลกอฮอล์ทาฆ่าเชื้อ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบก่อนล่วงหน้า
- บีบลูกยางสม่ำเสมอขณะบริจาคเลือด เพราะจะทำให้เลือดไหลได้สะดวก
- หากมีอาการผิดปกติระหว่างให้เลือด เช่น วิงเวียน มีอาการคล้ายจะเป็นลม หน้ามืด ใจสั่น มีอาการชา หรือรู้สึกเจ็บผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที

หลังบริจาคเลือด ควรทำ และ งดทำสิ่งใดบ้าง
- อย่ารีบลุกขึ้นจากเตียง ให้นอนพักที่เตียงอย่างน้อย 5 นาที จึงค่อยลุก
- นั่งพักยังจุดที่เจ้าหน้าที่จัดเตรียมไว้ให้ พร้อมกับเครื่องดื่มและอาหารว่าง
- หลีกเลี่ยงการใช้แขนข้างที่บริจาคเลือด เป็นเวลา 24 ชั่วโมง
- หลังบริจาคเลือด ควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ 1 – 2 วัน
- ทานยาหรืออาหารเสริมธาตุเหล็ก หลังอาหาร วันละ 1 เม็ด จนกว่าจะหมด เพื่อชดเชยการสูญเสียธาตุเหล็กจากการบริจาคเลือด
- หลีกเลี่ยงการขึ้น – ลง ที่สูง เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดอาการวูบ หรือเป็นลมได้
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่แออัด อากาศร้อน อบอ้าว หรือมีผู้คนหนาแน่น
- งดออกกำลังกายที่ทำให้เสียเหงื่อ เป็นเวลา 24 ชั่วโมง
- งดการทำงานที่มีความเสี่ยง หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความสูง ความเร็ว ความลึก รวมไปถึงการใช้เครื่องจักรกล

เลือดที่บริจาคนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง
การบริจาคเลือดในแต่ละครั้ง หรือเลือด 1 ถุง สามารถนำไปปั่นแยกเป็นส่วนประกอบโลหิตได้มากกว่า 3 ส่วน นำไปช่วยชีวิตผู้อื่นที่ได้รับอุบัติเหตุ ผู้ที่เสียเลือดจากการผ่าตัด รวมไปถึงการนำไปรักษาผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ซึ่งเลือดเพียง 1 ถุง แต่อาจสามารถช่วยเหลือชีวิตอื่น ๆ ได้มากกว่า 3 ชีวิต โดยเลือดที่ถูกบริจาค สามารถนำไปใช้แยกได้ ดังนี้
- เกล็ดเลือด นำไปใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งเลือดขาว โรคไข้เลือดออก หรือ ผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- เม็ดเลือดแดง นำไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย ไขกระดูกฝ่อ ผู้ที่สูญเสียเลือดจากการอุบัติเหตุ การผ่าตัด หรือ ตกเลือดจากการคลอดบุตร เป็นต้น
- พลาสมา นำไปใช้ในการรักษาผู้ที่มีอาการช็อกจากการขาดน้ำ ใช้ผลิตเซรุ่มป้องกันไวรัสตับอักเสบ B เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และผลิต Factor VIII หรือ แฟกเตอร์ 8 สำหรับรักษาโรคตับ , โรฮีโมฟีเลีย เอ อิมมูโนโกลบูลิน , โรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง อัลบูมิน (Albumin) รวมไปถึงการใช้รักษาผู้ป่วยจากการถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก