เนื่องจากพฤติกรรมการกินของคนในยุคปัจจุบัน อีกทั้งอาหารที่มีหลากหลาย โดยเฉพาะอาหารประเภทแป้ง เค็ม หวาน มัน หาซื้อได้ง่ายในเมืองไทย ทำให้ ภาวะโรคอ้วน กลายเป็นปัญหาสำคัญของคนไทย และประชากรทั่วโลก โดยยังไม่นับรวมถึงปัญหาขยะเศษอาหารล้นโลก อันเป็นผลมาจากพฤติกรรมการกินเช่นเดียวกัน
โรคอ้วน หรือน้ำหนักที่มากเกินไป เป็นปัจจัยต่อการเกิดโรคและปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ ตามมา เช่น ปัญหาข้อเข่าเสื่อมที่เกิดจากการรับน้ำหนักตัว โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง อีกทั้งยังเป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิตในสังคม เช่น ข้อจำกัดเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า หรือแม้แต่สิทธิในการเข้าใช้บริการในบางรูปแบบหรือในบางสถานที่เพราะน้ำหนักเกิน
การรักษาโรคอ้วนมีหลายช่องทางด้วยกัน ตั้งแต่การลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกาย ระบบการทานอาหารแบบจำกัดแบบ IF ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย การลดประเภทอาหาร และหลายคนเลือกที่จะใช้วิธีทางลัด อย่าง “การผ่าตัดกระเพาะอาหาร”

ผ่าตัดกระเพาะอาหารคืออะไร
การผ่าตัดกระเพาะอาหาร คือ การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารให้เล็กลงจากขนาดปกติ โดยในอดีตใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหาร หรือโรคแผลในกระเพาะอาหารที่จำเป็นต้องผ่าตัดนำส่วนที่ไม่ดี หรืออาจส่งร้ายต่อสุขภาพในอนาคตออกไป และผลที่ได้ตามมาจากการผ่าตัด คือ น้ำหนักตัวลดลง และโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคความดันโลหิต หรือ โรคเบาหวาน กลับดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้มีการศึกษาอย่างจริงจัง และมีการนำมาใช้รักษาในผู้ที่มีภาวะอ้วนในปัจจุบัน

ตัดกระเพาะเหมาะกับใคร
การตัดกระเพาะอาหารยังนับว่าเสี่ยงอันตราย และจะต้องได้รับการพิจารณาและตรวจสุขภาพจากทีมแพทย์ก่อน จึงจะทำการผ่าตัดกระเพาะได้ ไม่ใช่ว่าใครที่นึกอยากทำก็ทำได้เลย โดยการตัดกระเพาะเหมาะกับผู้ที่มีอายุระหว่าง 17-70 ปี มีค่า BMI มากว่า 32 หรือมีภาวะโรคอ้วน และมีผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตจากโรคอ้วน จึงจะสามารถเข้ารับการผ่าตัดกระเพาะอาหารได้
ใครที่ไม่ควรผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร
ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 17 ปี เนื่องจากเป็นวัยที่อยู่ในช่วงกำลังเจริญเติบโต ผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป เพราะมีความเสี่ยงสูงจากความเสื่อมของร่างกาย และ ผู้ป่วยโรคร้ายแรงที่ยังอยู่ในกระบวนการรักษา เช่น เบาหวาน มะเร็ง เป็นต้น

การผ่าตัดกระเพาะมีกี่แบบ
การผ่าตัดกระเพาะอาหารมี 4 แบบด้วยกัน ได้แก่
1. การรัดกระเพาะ คือ การใส่สายยางเข้าไปเพื่อให้รัดกระเพาะ สามารถปรับให้ลดหรือขยายได้ โดยวิธีการรัดกระเพาะจะทำให้ขนาดของกระเพาะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากกระเพาะขนาดใหญ่ทำให้มีขนาดเล็กลง ทำให้เมื่อทานอาหารเพียงเล็กน้อยก็รู้สึกอิ่ม ซึ่งวิธีนี้สามารถคลายตัวที่รัดกระเพาะได้ทุกเมื่อที่คนไข้น้ำหนักลดลงจนพอใจ
2. การผ่าตัดกระเพาะ คือ การเฉือนส่วนหนึ่งของกระเพาะออกไปให้มีขนาดเล็กลง โดยปกติกระเพาะอาหารของคนเราจะมีลักษณะคล้ายผลกล้วย และเมื่อกระเพาะอาหารมีขนาดเล็กลง ทำให้ผู้ผ่าตัดกระเพาะทานอาหารเพียงเล็กน้อยก็รู้สึกอิ่ม
3. การทำบายพาส คือ ตัดกระเพาะอาหารให้เล็กลงโดยนำลำไส้เล็กส่วนกลางขึ้นมาเย็บติดต่อจากกระเพาะเลย เพื่อให้การดูดซึมอาหารน้อยลง ซึ่งร่างกายของคนเราโดยปกติเมื่อลงไปยังกระเพาะอาหาร ต่อด้วยลำไส้เล็กส่วนต้น ถัดไปจึงเป็นลำไส้เล็กส่วนกลาง แต่หลังจากผ่าตัดกระเพาะอาหารด้วยการทำบายพาส จะเป็นในรูปแบบของ กระเพาะอาหารแล้วต่อด้วยลำไส้เล็กส่วนกลางเลย ทำให้วิธีนี้ลดน้ำหนักได้ดีกว่า 2 วิธีแรก เพราะมีทั้งการลดขนาดของกระเพาะอาหาร และ การทำบายพาส ส่งผลให้อาหารไหลลงสู่ลำไส้เล็กเร็วขึ้น ดูดซึมได้น้อยลง จึงอิ่มเร็วขึ้นนั่นเอง
4. การทำบายพาสแบบสลับลำไส้ คือ การทำบายพาสแบบข้อ 3 แต่จะนำลำไส้ส่วนเล็กส่วนปลายมาต่อกับกระเพาะเลย และมีการข้างลำไส้เพื่อให้อาหารยิ่งถูกดูดซึมได้น้อยลงกว่าวิธีอื่น ๆ แต่วิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมแล้ว เนื่องจากมีผลข้างเคียงต่อคนไข้มากเกินไป มีภาวะขาดสารอาหาร และมีคนไข้ที่หลังผ่าตัดกระเพาะเสียชีวิตในเวลาต่อมา
โดยส่วนใหญ่คนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดกระเพาะอาหารจะเลือกวิธีที่ 2 และ 3 แต่ทั้งนี้ต้องได้รับการประเมินจากหมอและคนไข้ร่วมกัน โดยคนไข้จะเป็นผู้เลือกวิธีผ่าตัดกระเพาะ ในขณะที่หมอจะต้องให้คำแนะนำ และตรวจสอบสุขภาพคนไข้ว่าสามารถใช้วิธีแบบไหนได้บ้าง

ตัดกระเพาะช่วยอะไร ทำไมถึงรักษาโรคอ้วนได้
ช่วยให้กระเพาะอาหารเล็กลง ส่งผลให้ผู้ตัดกระเพาะอาหารทานอาหารอิ่มเร็วขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในลำไส้ ส่งสัญญาณไปควบคุมความรู้สึกหิว มีอาการอยากอาหารน้อยลง ทานอาหารได้น้อยลงโดยไม่รู้สึกหิว จึงทำให้น้ำหนักลดลง
ระยะการพักฟื้นหลังเข้ารับการผ่าตัดกระเพาะกี่วันหาย
หลังจากที่เข้ารับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร คนไข้จะต้องมีการพักฟื้น โดยพักรักษาตัวในห้องพักฟื้นปกติของโรงพยาบาล เพื่อให้หมอได้ดูแลอาการและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ประมาณ 2 คืน โดยทั้งนี้ คนไข้จะต้องเข้าพักที่โรงพยาบาลก่อนทำการผ่าตัดเพื่อรับยาละลายลิ่มเลือดก่อน 1 คืน และในวันผ่าตัดต้องนอนในห้อง ICU อีก 1 คืน เพื่อสังเกตอาการ ดังนั้น คนไข้จะต้องทำการเข้าพักในโรงพยาบาลทั้งหมด คือ 4 คืน 5 วัน
ผ่าตัดกระเพาะ ข้อเสียหรือผลข้างเคียงมีอะไรบ้าง
- มีความเสี่ยงในขณะผ่าตัด
- ภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
- ภาวะขาดวิตามิน ทำให้ต้องกินวิตามินตลอดชีพ เนื่องจากการผ่าตัด ทำให้ระบบการดูดซึมอาหารเสื่อมประสิทธิภาพ เนื่องจากระบบการทำงานผิดธรรมชาติไปจากเดิม อีกทั้งภาวะที่คนไข้กินอาหารได้น้อยลง ทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ โดยเฉพาะวิตามินและแร่ธาตุ ทำให้คนไข้ต้องกินวิตามินเสริมทดแทนในส่วนที่ขาดนี้ตลอดชีวิต
ผลเสียจากการขาดวิตามิน
จากผลข้างเคียงหลังจากผ่าตัดกระเพาะอาหาร ที่ทำให้คนไข้ขาดวิตามิน จนต้องกินวิตามิตลอดชีวิต แล้วถ้าหากไม่กินวิตามินล่ะ จะมีผลอย่างไร
- ภาวะขาดวิตามินบี 12 ส่งผลต่อระบบประสาท
- มีปัญหาด้านการทรงตัว เดินเซ เดินไม่ตรง
- หน้ามืด วิงเวียนศีรษะง่าย
- ไม่สามารถทานอาหารบางชนิดได้ตลอดชีวิต
- อาจกลับมาอ้วนได้อีก