สายชีพจรลงเท้าคนไหนเคยมีประสบการณ์ “ตกเครื่อง” บ้าง? แล้วทำอย่างไรในการแก้ไขสถานการณ์กันบ้างคะ
ส่วนใหญ่สาเหตุที่ทำให้เดินทางมาไม่ทันขึ้นเครื่องมีอะไรกันบ้างนะ?
- ตื่นสาย ตั้งนาฬิกาแล้วไม่ปลุก ตื่นเต้นจนนอนไม่หลับทั้งคืน แต่ดันมาหลับตอนใกล้เวลาต้องตื่น
- เจ็บป่วย อุบัติเหตุ สภาพอากาศ
- ความเข้าใจผิด ดูเวลาผิด เข้าใจเวลาคลาดเคลื่อน
- เอกสารสำคัญหาย เช่น พาสปอร์ต เป็นต้น
- สภาพการจราจร รถติด รสเสีย รถไม่จอดรับ รถไม่มารับ ฯลฯ

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด เมื่อตกเครื่องแล้ว ไม่ต้องโวยวายไปค่ะ เพราะเราไม่สามารถย้อนเวลากลับมาได้ การดีโพยตีพายจึงไม่สามารถช่วยอะไรได้ แต่การรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ให้ได้มากที่สุด คือ วิธีแก้ไขที่ดีกว่ากันเยอะเลย แล้วทำอย่างไรดีเมื่อตกเครื่อง มาดูกันเลย
1. ตั้งสติ ทำใจให้สงบ เพราะการสงบนิ่งจะทำให้สามารถคิดอะไรได้มากกว่า เมื่อรู้ว่าตกเครื่อง แน่นอนทุกคนย่อมรู้สึกแย่ ยิ่งถ้าพยายามเร่งทุกทางและไม่ใช่ความผิดของเรา อาจเพราะเกิดอุบัติเหตุ การจราจร คนขับรถพาอ้อม ฯลฯ แต่โวยวายไปก็จะยิ่งคิดอะไรไม่ได้ รีบตั้งสติก่อน แล้วลองประเมินดูว่า เราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง อย่างเช่น ควรรีบติดต่อใครก่อนอันดับแรก
2. ติดต่อสายการบินทันที โดยเจ้าหน้าที่ของสายการบินนั้นๆ จะสอบถามถึงเหตุผลของการมาขึ้นเครื่องไม่ทัน เราก็ต้องอธิบายสาเหตุที่แท้จริง โดยพยายามเน้นเหตุผลให้มากๆ แต่ถ้าอ้างว่าตื่นสาย ตกประเด็นไปเลย เพราะเหตุผลนี้ ไม่มีสายการบินไหนยอมช่วยหรอกนะ แต่การช่วยเหลือในเสต็ปต่อไป ก็ต้องขึ้นอยู่กับมาตรการของสายการบินนั้น ๆ ด้วย อาจมีการชดเชยด้วยสิทธิประโยชน์อื่น ๆ แทน เช่น หากเป็นตั๋วแบบฟูลคอร์ส อาจได้สิทธิ์ในการออกตั๋วใบใหม่ แต่อย่าลืมว่าขึ้นอยู่กับสายการบิน และประเภทตั๋วของคุณด้วย หากเป็นตั๋วโปรโมชั่น หรือตั๋วโลว์คอร์ส อาจมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัด จึงควรตรวจสอบข้อมูล หรือสอบถามเจ้าหน้าที่ให้ละเอียด
3. เริ่มต้นใหม่กับตั๋วใบใหม่ กรณีที่ติดต่อเจ้าหน้าที่ และสามารถออกตั่วใบใหม่ได้แล้ว จะต้องกำหนดและกะเวลาต่าง ๆ ให้ดี หากได้ตั๋วใหม่ที่บินในเวลาต่อมา แบบเวลากระชั้นชิด ก็ยิ่งต้องเตรียมตัวให้มาก ไม่งั้นอาจพลาดอีก คราวนี้อาจไม่มีโอกาสแก้ตัว ดังนั้จะต้องเช็คเวลาไฟลท์บินรอบต่อไปให้ดี ๆ ก่อน ตัดสินใจออกตั๋วใบใหม่

วิธีการป้องกันการตกเครื่อง
1. ตรวจสอบข้อมูลการเดินทางให้ละเอียด ตั้งแต่วันและเวลาที่เครื่องจะออก เกตไหน สนามบินอะไรกันแน่ จะได้ไม่ไปผิดที่ เช่น เดินทางไปภาคใต้ในประเทศแบบ domestic flights หรือเดินทางไปต่างประเทศแบบ international flights รวมไปถึงเอกสารสำคัญต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการเดินทาง ใบจองที่พัก บัตรแสดงตน และถ้าเดินทางไปต่างประเทศ ก็ควรแลกเปลี่ยนเงินเตรียมไว้ให้พร้อม
2. เดินทางไปถึงสนามบินก่อนล่วงหน้า โดยทางที่ดีคือ ไปถึงสนามบินก่อนเวลาบินประมาณ 3-4 ชั่วโมง อย่ากะเวลาเพียงแค่ 1 ชั่วโมงก่อนบิน เพราะอาจไม่เพียงพอ หากเจอปัญหากระทันหัน ยิ่งถ้าเดินทางช่วงเทศกาล ยิ่งต้องเผื่อไว้มากๆ เพราะคนเดินทางกันเยอะ แถวเช็คอินยาวเหยียด ดังนั้นการไปถึงสนามบินโดยยังมีเวลาเหลือย่อมอุ่นใจกว่าแน่นอน
3. เช็คอินล่วงหน้าก่อนก็ดีนะ หลายสายการบินที่สามารถทำการเช็คอินก่อนได้ล่วงหน้าถึง 14 วัน การเช็คอินก่อนล่วงหน้าสัก 2-3 วัน ก็ดีนะ เมื่อไปถึงหน้างานก็เดินเข้าไปได้สบายๆ ไม่ต้องไปต่อคิวให้เสียเวลา
4. เช็กน้ำหนักกระเป๋าให้ดี เพราะเมื่อไปถึงหน้างาน จะเสียเวลามาก ๆ และอาจต้องทำให้เราต้องตัดใจทิ้งของที่ไม่อยากทิ้ง หากน้ำหนักเกินกำหนด จึงต้องคำนวณน้ำหนักกระเป๋าเดินทางให้ดี ทั้งแบบโหลดใต้เครื่อง และแบบ carry on รวมไปถึงของห้ามพกขึ้นเครื่อง และอะไรที่สามารถพกได้ ควรศึกษาให้ดี จะได้ไม่ต้องไปมีปัญหาและเสียเวลาหน้างาน
5. เช็คเอกสารให้ครบถ้วน เอกสารสำคัญทุกประเภทที่ต้องใช้ในการเดินทาง หรือแม้แต่เอกสารยืนยันตัว เช่น Boarding Pass ใบจองที่พัก เป็นต้น โดยเฉพาะบอร์ดดิ้งพาส ถ้าทำหายหรือลืมนำติดตัวมาด้วย ยิ่งเสี่ยงต่อการตกเครื่องได้ง่าย หากมีเวลาจำกัดในการออกใบใหม่ ดังนั้นควรตรวจสอบก่อนออกจากบ้านให้ดีๆ ว่าได้นำติดตัวมาแล้วหรือไม่ และขอแนะนำควรเก็บไว้ใกล้ตัวที่หยิบและสามารถเช็คได้ง่าย เช่น ในกระเป๋าเสื้อ หรือกระเป๋าคาดตัว เป็นต้น

ข้อควรรู้กรณีตกเครื่อง
- เช็กอินล่วงหน้าได้สูงสุด 14 วัน
- เช็กอิน และ โหลดสัมภาระ 2 ชั่วโมง ก่อนบิน
- ปิดรับเช็กอิน และ โหลดสัมภาระ 40-60 นาที ก่อนบิน
- เกตเปิด และสแตนด์บายหน้าเกต 40 นาที
- เกตปิด 20 นาที ก่อนบิน
เมื่อตกเครื่องจะได้เงินชดเชยทุกกรณีไหม ?
การจะได้เงินชดเชย ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและมาตรการของสายการบินนั้นๆ และถ้าหากเหตุผลการตกเครื่องมาจากสายการบิน ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาของระบบสายการบิน หรือสาเหตุที่เข้าข่ายกับเงื่อนไข สายการบินก็จะมีการชดเชยตามมาตรการ แต่ถ้าเป็นสาเหตุที่มาจากผู้โดยสารเอง ที่ไม่เข้าข่ายในข้อกำหนด ก็อาจจะไม่ได้รับการชดเชยใดๆ จึงควรทำการศึกษารายละเอียด ข้อกำหนด เงื่อนไข วัน เวลา ของเที่ยวบินให้เข้าใจอย่างละเอียด และพยายามเตรียมตัวในการเดินทางไปให้ทันเที่ยวบินดีกว่า เพราะต่อให้ซื้อตั๋วแบบฟูลออฟชั่นแค่ไหน มีการชดเชยดีเพียงใด แต่อาจไม่คุ้มกับผลที่ตามมา หากการบินของคุณไฟลท์นั้น เกี่ยวกับเรื่องงาน หรือเรื่องสำคัญที่มีเวลาเป็นตัวแปร